Loading...

เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย ผนึกกำลัง โรงพยาบาลบ้านแพ้ว พัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัย

ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม โดยเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย ร่วมลงนามโครงการระบบดูแลผู้สูงอายุและการพัฒนาระบบนิเวศเขตเมืองสำหรับผู้สูงอายุ กับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2563

  

 

          กลุ่มเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network) คลัสเตอร์ดิจิทัล (Digital Cluster) นำโดย ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช ประธานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย คลัสเตอร์ดิจิทัล ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพร้อมแถลงข่าวความร่วมมือทางการวิจัย ร่วมกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว โดยมี ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องประใหญ่ ชั้น 10 โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จังหวัดสมุทรสาคร

          ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งจะมีประชากรสูงวัยมากถึงร้อยละ 20 และคาดว่าในอีก 18 ปีข้างหน้า จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด โดยที่ประชากรสูงวัยจะมีมากถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจำนวนของผู้สูงอายุที่อาศัยตามลำพังก็จะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป โดยกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะได้รับอุบัติเหตุ อาทิ การหกล้มที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บและมีผลพวงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา ทำให้จำเป็นต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดจากอาสาสมัครชุมชนหรือผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) โดยเฉพาะอาการอัลไซเมอร์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของประชากรวัยผู้สูงอายุ

          อย่างไรก็ตามด้วยวิวัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นกุญแจสำคัญในด้านการพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่จะนำไปสู่ระบบการบริหารจัดการสำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่จะส่งผลในระยะยาว โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นก้าวสำคัญสำหรับด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุของโรงพยาบาลบ้านแพ้วและเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย คลัสเตอร์ดิจิทัลที่ได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการวิจัย “โครงการระบบดูแลผู้สูงอายุและการพัฒนาระบบนิเวศเขตเมืองสำหรับผู้สูงอายุ ภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืน” เพื่อนำนวัตกรรมที่ผ่านการทดสอบในห้องทดลอง และพัฒนาจนสามารถนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมจริง อันเป็นแนวทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมระบบดูแลสุขภาพสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผู้เปราะบางในสังคมปัจจุบัน โดยภายในงานมีการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการวิจัย ประกอบด้วยโครงการย่อยทั้งหมด 7 โครงการ ดังนี้

     1. โครงการระบบป้องกันการพลัดตกเตียงของผู้อายุ โดย ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) : การช่วยป้องกันการพลัดตกเตียงของผู้สูงอายุ และลดภาระของผู้ดูแล มีส่วนช่วยโรงพยาบาลในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในการดูแลผู้ป่วย การช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุได้ ทั้งยังมีประโยชน์สำหรับครัวเรือน อาทิ การลดความเสี่ยงการตกเตียงของผู้ป่วยและผู้สูงอายุ การลดอาการแผลกดทับเนื่องจากการนอนทับในท่าใดท่าหนึ่งในเวลาติดต่อกันยาวนาน ทำให้สามารถช่วยเฝ้าระวัง และลดความกังวลสำหรับผู้ดูแลที่ต้องทำงานนอกบ้าน เป็นต้น และเมื่อนำมาเชื่อมต่อสัญญาณกับหุ่นยนต์อัจฉริยะที่พร้อมให้การดูแลเพิ่มเติมเมื่อได้รับสัญญาณแจ้งเตือนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในบริการมากยิ่งขึ้น

     2. โครงการพัฒนาระบบนิเวศเมืองสู่การบูรณาการนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดย รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) : การสร้างระบบนิเวศชุมชนครบวงจรเพื่อสังคมผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน มีการศึกษาข้อมูลและความต้องการของผู้สูงวัยในด้านต่าง ๆ โดยนำมาวิเคราะห์ในหลากหลายมิติทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และประชากร รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านเครื่องมือสารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและแนวทางการพัฒนาเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ

     3. โครงการระบบสำรวจและจัดเก็บข้อมูลสุขภาพพร้อมการคัดกรอง โดย ศ.ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ และอาจารย์ผกาพร เพ็งศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล) : การศึกษาวิจัยเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาระบบเพื่อช่วยสำรวจและเก็บข้อมูลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันในการจัดเก็บข้อมูลคนไข้ด้วยตัวเอง และการติดต่อนัดหมายทางการแพทย์สำหรับโรงพยาบาล

     4. โครงการหุ่นยนต์คัดกรองผู้ที่มีแนวโน้มของภาวะซึมเศร้า โดย ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี (มหาวิทยาลัยมหิดล) : ระบบหุ่นยนต์ผู้เป็นเสมือนเพื่อนคุยด้วยเทคโนโลยีแชตบอทที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยบทสนทนาสำหรับการระบุระดับความเสี่ยงต่อการอยู่ในภาวะซึมเศร้าของคู่สนทนา เนื่องจากผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการมีอาการภาวะซึมเศร้าได้ง่ายจากชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องมีระบบเพื่อให้การสนทนาทั้งสำหรับการผ่อนคลายและช่วยคัดกรองผู้ที่มีแนวโน้มของภาวะซึมเศร้าก่อนที่จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

     5. โครงการระบบจำแนกชนิดของยา โดย ผศ.ดร.นริศ หนูหอม (มหาวิทยาลัยมหิดล) : แพลตฟอร์มที่กช่วยในการออกแบบและพัฒนาการจำแนกชนิดของยาสำหรับกลุ่มโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชัน “กินยาแล้ว” บนโทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยจำและเตือนการกินยาสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะหลงลืม

     6. โครงการศึกษาข้อมูลพฤติกรรมการเคลื่อนที่และประมวลผลเชิงสถิติเพื่อการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในประเทศ โดย ผศ.ดร.ธีรยุทธ โหรานนท์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) : แพลตฟอร์มระบบต้นแบบในการติดตามตำแหน่งและพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์หรือสถานพยาบาล เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลผุ้สูงอายุ และสามารถใช้ในการตรวจสอบตำแหน่งของผู้สูงอายุภายในบ้านพักอาศัย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาโรคอัลไซเมอร์ของผู้สูงอายุที่อาจเดินทางออกจากบ้านโดยไม่รู้ตัว และสามารถติดตามกลับมาได้

     7. โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์สัญญาณชีพเพื่อการเตือนเมื่อพบความผิดปกติของผู้สูงอายุ โดย ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เตมีย์ (มหาวิทยาลันเรศวร) : การพัฒนาแอปพลิเคชันในด้านการดูและสุขภาพของผู้สูงอายุ เป็นสร้างต้นแบบและระบบวิเคราะห์สัญญาณชีพ ระบุกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุเพื่อเตือนเมื่อพบสัญญาณผิดปกติ

          โดยในการจัดประชุมดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าร่วมชมโครงการ ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขมากกว่า 300 คนและมีการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ในการต่อยอดเพื่อพัฒนาระบบการการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้น จึงถือเป็นความสำเร็จของการวิจัยที่สามารถสร้างผลงานจากหิ้งลงสู่ห้างที่วันนี้ไม่ใช่เพียงนวัตกรรมที่เป็นเพียงผลงานของโครงการเท่านั้น แต่เป็นนวัตกรรมที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้จริง ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า วันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมต่อการกลายเป็นสังคมสูงวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สังคม….ที่ผู้สูงอายุจะเก๋าไปด้วยกัน (Young Together) กับคนรุ่นใหม่สามารถดูแลตนเองได้ ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่นและอยู่ในระบบนิเวศที่ออกแบบเพื่อผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนในอนาคต