Loading...

เปิดตัวแอปฯ “ออร์แกนิค” ระบบตรวจสอบแหล่งปลูกจนถึงตลาด ยกระดับสินค้าสู่เกษตรไฮเอนด์

เคยสงสัยไหมว่า ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษที่กิน ปลอดสารพิษ 100% จริงหรือไม่ และมาจากที่ใด ต่อไปนี้เพียงแค่ สแกนคิวอาร์โค้ด ผ่านแอปพลิเคชัน “ออร์แกนิค” ที่ธรรมศาสตร์ได้พัฒนาขึ้น ก็จะสามารถรู้ถึงความเป็นมาของผลผลิตได้ทุกขั้นตอน

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2561

         ในปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น หากอยากให้เศรษฐกิจประเทศเติบโต จำเป็นต้องมีการนำนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเกษตร ยังไม่ได้รับความสนใจในการพัฒนามากนัก

          คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยี จึงเกิดไอเดียพัฒนาแอปพลิเคชัน “ออร์แกนิค” ขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยภายใต้แนวคิด SCI+BUSINESS

          ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันออร์แกนิค บอกว่า การพัฒนาแอปพลิเคชันออร์แกนิค เพื่อรองรับระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบจีพีเอส ภายใต้การจัดระบบโดย มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย เพียงแค่สแกน QR Code ก็จะสามารถรู้ถึงคุณภาพผลผลิต และฟาร์มของเกษตรกร รวมถึงข้อมูลต่างๆ เช่น ชื่อเกษตรกร ชื่อฟาร์ม สถานที่ตั้ง ช่องทางการติดต่อ ภาพผลผลิตจริง ไทม์ไลน์การเพาะปลูกของเกษตรกร วันและเวลาที่เก็บเกี่ยวอย่างชัดเจน

          นอกจากนี้ ยังสามารถบอกลักษณะของผลผลิตว่าตรงตามมาตรฐานสากลของผลิตภัณฑ์อินทรีย์หรือไม่ โดยเชื่อมโยงข้อมูลไปยังระบบบัญชีแยกประเภท และฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ของของมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย

          ข้อมูลที่ได้มาจากเกษตรกรจะเป็นผู้กรอกข้อมูลเข้าระบบด้วยตัวเอง เช่น การวางแผนการผลิต การปฏิบัติในฟาร์ม การนำเข้าปัจจัยการผลิต ระยะการปลูก การเติบโตของพืช และเมื่อครบทั้งกระบวนการผลิตแล้ว คณะผู้วิจัยจะลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพ และตรวจเช็กข้อมูลการบันทึกย้อนหลังของเกษตรกรอีกครั้ง เพื่อประเมินผลผลิตในฟาร์มนั้นๆ และออกใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งออก QR Code สำหรับแปะลงบนผลผลิตเพื่อวางจำหน่าย

          แอปพลิเคชันออร์แกนิค ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรแล้ว และมีการใช้จริงในพื้นที่ทั่วประเทศถึง 18 ฟาร์ม และยังได้รับรางวัลเหรียญทองแดงและรางวัล Special Prize จากประเทศอิหร่าน การันตีคุณภาพ จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์เวทีนานาชาติ ครั้งที่ 46 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อีกด้วย

          สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษา หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4491 หรือ 02-564-4495