Loading...

ทุเรียนกระแสแรง กลิ่นก็แรง ไม่ต้องกลัว! วิทยาศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ ช่วยได้ด้วยนวัตกรรม "เคลือบทุเรียน"

ช่วงหน้า “ทุเรียน” ราชาผลไม้ของประเทศไทย หลายคนคงซื้อทุเรียนมากินอย่างเอร็ดอร่อย แต่การขนส่งผลทุเรียนสดจากสวนมาขายแต่ละครั้ง ต้องเจอกับปัญหาทุเรียนสุกก่อนถึงปลายทาง! แถมบางครั้งผลผลิตแตกเสียหาย กลิ่นก็แรงอีกด้วย... คณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้พัฒนานวัตกรรมการ "เคลือบผลทุเรียน" เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2561

          เทศกาลผลไม้หน้าร้อนมาถึงแล้ว และคงหนีไม่พ้นราชาผลไม้ของประเทศไทย “ทุเรียน” ที่มาแรงทั้งกระแส ทั้งกลิ่นที่ตามมา แต่ก็ยังคงเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จากคนในประเทศเอง หรือชาวต่างชาติ เช่น ประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน จนถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญอันดับ 1 ของไทย

          ด้วยกลิ่นที่แรงของทุเรียนเมื่อสุกนั้น ก็ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรในหลายพื้นที่เจอในการส่งออก นอกจากนี้ยังเจอกับปัญหาผลแตกขณะขนส่งหรือวางจำหน่ายอีกด้วย เพราะของมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกนั้น ผลทุเรียนจะต้องได้ทรงมาตรฐาน อยู่ในสภาพสมบูรณ์ รวมถึงได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ GAP เป็นต้น

          ทำให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดไอเดียในการกันกลิ่น กันแตกขึ้น จึงพัฒนานวัตกรรมการเคลือบผลทุเรียนสดด้วยเทคนิค Active Coating เพื่อชะลอการสุกของผลทุเรียนแก่ ขณะขนส่งได้นานถึง 2 สัปดาห์ และจะสุกพร้อมวางขายได้ทันทีเมื่อถึงปลายทาง อีกทั้งยังขจัดปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ของผลทุเรียนเมื่อสุก และปัญหาผลแตกขณะขนส่งได้ 100% แต่ยังคงคุณภาพ และรสชาติของเนื้อทุเรียนภายในไว้เหมือนเดิม

          รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง และอาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่า นวัตกรรมการเคลือบผลทุเรียน ภายใต้การดูแล Senior Project ของนายประกาสิทธิ์ ชุ่มชื่น นักศึกษาปริญญาตรี ร่วมพัฒนาด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีทางการเกษตร สู่การพัฒนาวัสดุห่อหุ้มผลทุเรียน (Active Coating) ใน 2 ขั้นตอน คือ

          1. ขั้นเตรียม Active Coating นำส่วนประกอบสำคัญ 3 ชนิด อันได้แก่ เส้นใยธรรมชาติ (Fiber) ที่ผ่านการตัดแปลงโครงสร้าง และผงถ่านกัมมันต์ (Active Carbon) ผสมรวมตามสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อดูดซับกลิ่นของทุเรียน แก๊สเอทิลีน และกลิ่นไม่พึ่งประสงค์อื่นๆ ที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ อาทิ Dimethyl disulfide (DMDS) และ Dimethyl trisulfide (DMTS) ฯลฯ

          2. ขั้นเคลือบผิวทุเรียน นำผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีอายุประมาณ 110+5 วัน หลังดอกบาน จุ่มลงในเส้นใยให้ติดทั่วทั้งผล โดยที่เปลือกของทุเรียนจะมีความหนาขึ้นประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เพื่อเป็นการป้องกันเปลือกทุเรียนแตกระหว่างทาง จากนั้นจึงนำไปบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์พิเศษ พร้อมวิเคราะห์สารประกอบกลิ่น ซึ่งเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 23-27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 55-65%

          จากการศึกษา และพัฒนานวัตกรรมลดกลิ่น-ลดแตกของผลทุเรียนสดเป็นเวลาถึง 2 ปี พบว่า เทคนิคการเคลือบผลทุเรียนด้วยเส้นใยจากพืช สามารถลดการแพร่กระจายกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของทุเรียน และป้องกันการแตกของผลได้ 100% เมื่อเทียบกับทุเรียนที่ไม่ได้ห่อหุ้มผล อีกทั้งยังคงคุณภาพของเนื้อทุเรียนภายในได้เป็นอย่างดี จึงตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรในยุค 4.0 ได้อย่างตรงจุด ในค่าใช้จ่ายที่ต่ำ ซึ่งมีต้นทุนโดยเฉลี่ยเพียง 2-3 บาทต่อผล

          แต่ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังไม่มีการจำหน่ายสูตรในเชิงพาณิชย์ โดยได้ยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว แต่สำหรับคนที่สนใจสามารถขอรับคำปรึกษาได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร โทรศัพท์ 0-2564-4491 และ 086-365-6451 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4440 ถึง 59 ต่อ 2010