Loading...

SIIT เปิดห้องเรียน Active Learning สร้างหลักสูตร Digital Lean ร่วมกับบริษัทเอกชนของญี่ปุ่น

 

สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) เปิดห้องเรียน Active Learning และวิชา Digital Lean Manufacturing

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ.2563

  

          สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) เปิดห้องเรียน Active Learning และวิชา Digital Lean Manufacturing เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ณ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ตามที่ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จํากัด (DIAT) โดย SIIT ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาเซียนและญี่ปุ่น (AEM-MET Economic and Industrial Cooperation Committee: AMEICC) และ The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOTS) โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อํานวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร รวมทั้งผู้แทนสถานทูตญี่ปุ่น ผู้แทน AMEICC และ AOTS ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทเด็นโซ่ ประเทศไทย บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จํากัด และบริษัท เด็นโซ่ คอร์เปอร์เรชั่น จํากัด ประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย

          ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนแบบ Active Learning และบ่มเพาะบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีทักษะทางด้านดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูล สามารถนําไปประกอบการตัดสินใจในการออกแบบและปรับปรุง กระบวนการผลิตและการบริการภายใต้การปฏิบัติแบบ Lean โดยใช้องค์ความรู้จากแบบฉบับอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นต้นกําเนิดระบบ Just-in-time และอื่น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของอุตสาหกรรมไทย จากอุตสาหกรรมที่ใช้คนล้วน ๆ ไปสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ผสมผสานระหว่างการทํางานของคนและระบบอัตโนมัติ (Semi-automation) และการใช้ระบบอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว (Automation) ในบริบทที่เหมาะสมทั้งบริษัทแบบ SME และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สอดคล้องกับกระแสดิจิทัลใน Industry 4.0 และนโยบายเศรษฐกิจ Thailand 4.0 เพื่อสร้างประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น

          SIIT และผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทเด็นโซ่ จะได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนในวิชา Digital Lean Manufacturing สําหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และ Digital Lean สําหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อมุ่งเน้นการฝึกฝนทักษะการปรับปรุงระบบงานที่ผลิตด้วยมือให้ Lean ในระดับที่เหมาะสมกับการเชื่อมต่อกับระบบอัตโนมัติ ทําให้การทํางานของระบบที่มีคนกับเครื่องจักรและหุ่นยนต์ในแบบ Semi-automation ทํางานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทําให้การจัดการต้นทุนการผลิตเป็นไปอย่างเหมาะสม และมีศักยภาพในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริง นักศึกษาจะได้ฝึกฝนการออกแบบระบบ การปรับปรุงระบบ ทีละขั้นตอนตามแนวปฏิบัติแบบ Lean ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น โดยใช้ชิ้นส่วนรถ LEGO ในการออกแบบกระบวนการผลิต การจัดพื้นที่ทํางาน และออกแบบการไหลของงานเพื่อสร้างระบบ logistics ภายในโรงงานที่เหมาะสม และเพื่อทดสอบการออกแบบที่เหมาะสมกับเงื่อนไขในการผลิตต่าง ๆ  นักศึกษาจะใช้โปรแกรม GD.findi เพื่อจําลองสถานการณ์และวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อระบบ เพื่อนําไปสู่การแก้ไขปรับปรุงการออกแบบระบบที่ดียิ่งขึ้น การออกแบบทางกายภาพโดยใช้ชิ้นส่วนรถ LEGO และทักษะทางด้านดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลจะเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อสร้างทักษะการเป็นนักคิด นักทดลอง นักปฏิบัติ ภายใต้แนวคิด Lean ให้กับคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจะมีโอกาสสร้างทักษะดังกล่าวและนําไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบและปรับปรุงระบบบริการที่จําลองในห้องเรียนอีกด้วย นอกจากนักศึกษาได้ฝึกทักษะเชิงเทคนิคแล้ว นักศึกษายังได้รับการบ่มเพาะทักษะการทํางานร่วมกัน อาทิ การฟังอย่างแท้จริง การทํางานเป็นทีม การสร้างแรงจูงใจ ทักษะเหล่านี้ เป็นที่ต้องการยิ่งในโลกการทํางานปัจจุบันที่ต้องแก้ปัญหาด้วยสหวิทยาการ กิจกรรมการเรียนรู้ของนักศึกษาได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับโมเดลการสร้างทักษะในรูปแบบตัวที High-tech T-shaped skills model

          ความร่วมมือระหว่าง SIIT และบริษัทเด็นโซ่ ยังครอบคลุมด้านการสนับสนุนให้ทุนนักศึกษาได้ฝึกงานกับบริษัทในเครือทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น การฝึกอบรมอาจารย์และการวิจัยพัฒนาร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความสามารถให้กับบุคลากรในประเทศไทยในการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล