Loading...

ทักษะมนุษย์ในโลก AI กับ “การศึกษา” ที่ต้อง Transform

เป็นความจริงที่ว่า AI กำลังถูกพัฒนาและมีผลทำให้ทักษะบางอาชีพค่อย ๆ ปิดตัวลง แต่ขณะเดียวกัน AI ก็เปิดประตูแห่งโอกาสอีกบานออก... แล้วทักษะแบบใดที่โลกยุคใหม่ต้องการกันแน่ ?

วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ.2563

  

          AI กำลังจะแทนที่มนุษย์, 10 อาชีพที่ใกล้จะตกงาน, อยู่อย่างไรในวันที่ AI เข้ามาแทนที่ ฯลฯ เหล่านี้คือหัวข้อสนทนาที่เราพูดกันบ่อยขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า เราได้เข้าสู่ยุค “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial intelligence (AI) แล้ว และเราก็ค่อนข้างมีความกังวลกับสิ่งนี้

          ทว่า ในความเป็นจริงแล้วมันก็ไม่ได้ดูแย่ไปเสียทั้งหมด ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2562 ในฐานะนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AI) บอกว่า เป็นความจริงที่ว่า AI กำลังถูกพัฒนาและมีผลทำให้ทักษะบางอาชีพค่อย ๆ ปิดตัวลง แต่ขณะเดียวกัน AI ก็เปิดประตูแห่งโอกาสอีกบานออก

          ฉะนั้น การอยู่รอดในยุค AI จึงขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง ที่จะต้องมีทักษะสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

คำถามคือ แล้วทักษะแบบใดที่โลกยุคใหม่ต้องการ ?

          สิ่งที่ต้องเข้าใจเป็นลำดับแรกก็คือ AI มีการทำงานหลายรูปแบบ อาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ 1. รูปแบบการทำงานแบบอัลกอริทึม (Algorithm) ซึ่งเป็นกระบวนการนำเข้าและหาผลลัพธ์ที่เป็นขั้นตอนชัดเจน 2. การทำงานแบบเทคโนโลยีเสริมศักยภาพของมนุษย์ (Augmentation) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับมนุษย์และเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดระยะเวลาการทำงานลง 3. การทำงานแบบอัตโนมัติ (Autonomy) ซึ่ง AI จะมีบทบาทแทนที่มนุษย์ คือสามารถตัดสินใจแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด

          “ทุกวันนี้ ทั่วโลกยังคงใช้งาน AI ในสองประเภทแรก ส่วนการให้ AI เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจแทนมนุษย์หรือทำงานแทนมนุษย์ทั้งหมดนั้น คงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร” ดร.ธนารักษ์ ระบุ

          แม้ว่าขณะนี้ บทบาทของ AI จะเป็นทำหน้าที่หนุนเสริมการทำงานของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ หากแต่จุดแข็งของ AI อันประกอบด้วย ความชัดเจน ความแม่นยำ และการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะในกลุ่มงานที่ต้องทำอย่างซ้ำ ๆ และประมวลผลไม่ซับซ้อน

          แน่นอนว่า ประตูที่กล่าวถึงข้างต้นกำลังถูกปิดลง แต่ประตูอีกบานกำลังค่อย ๆ ถูกแง้มออก โดยโอกาสที่เปิดกว้างในยุค AI คืองานที่มีลักษณะการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ทักษะทางสังคมทักษะด้านจิตวิทยา     การอธิบาย การประสานงาน การตัดสินใจ การประเมินและวิเคราะห์ระบบ การใช้เหตุผล ตลอดจนการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน

          “ทักษะเหล่านี้เป็น Soft Skill ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับหลาย ๆ อย่าง เป็น Multi Skill ที่ต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ ดังนั้นที่สำคัญที่สุดก็คือ มนุษย์ต้องปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่แทบจะตลอดเวลา” อาจารย์ธนารักษ์ ระบุ

นายกสมาคม AI วิเคราะห์เทรนด์ว่า งานในโลกยุคใหม่จะเน้นความสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่เครื่องจักรผลิตออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกัน การทำงานจึงจะไม่ใช่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดียวกันหมด หากแต่จะมีลักษณะเป็นหน่วยย่อย เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) สตาร์ทอัพซึ่งเชื่อมต่อกันผ่านเทคโนโลยี มีความคล่องตัวสูง พร้อมจะปรับจะเปลี่ยนเปลี่ยนได้ทุกสถานการณ์

          ดังนั้น ทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่ อาจจัดเป็นหมวดกว้าง ๆ ได้แก่

          1. ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity Skill) คือสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาประยุกต์และสร้างเป็นไอเดียจำนวนมาก ซึ่งต้องใหม่และสามารถใช้แก้ปัญหาที่แต่ละธุรกิจเจอได้

          2. ทักษะการบูรณาการเทคโนโลยี (Integration Skill) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี แอปพลิเคชันที่มีหลากหลาย กระจัดกระจาย มาหลอมรวมเพื่อสร้างสิ่งใหม่ได้ สามารถมองเป็นคอนเซ็ปต์ที่ตอบสนองทั้งเทคโนโลยี การตลาด และประโยชน์ของสังคม

          3. ทักษะแบบอ่อน (Soft Skill) ซึ่งเน้นไปในทางการสื่อสาร การปรับตัว การแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ซึ่งช่วยให้ย่อยข้อมูลจำนวนมากได้ โดยต้องรู้จักตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ ตีความ ประเมินทางเลือกและตัดสินใจ

          4. ทักษะการคิดแบบกลยุทธ์เพิ่มมูลค่า (Value-Added Development Skill) ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น สร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ

          5. ทักษะการสร้างความสุข (Well-Being Skill) ที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข โดยทักษะทั้งหมดนี้สามารถประยุกต์เข้ากับทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นในสายเทคโนโลยี การบริการ การท่องเที่ยว การทำธุรกิจ

          ดร.ธนารักษ์ อธิบายอีกว่า เมื่อลักษณะของแรงงานในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป สถาบันการศึกษาเองก็จำเป็นต้องปรับตัวตามเช่นกัน ตัวอย่างเช่นที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์     ก็ได้พัฒนาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ไม่ยึดติดกับรูปแบบห้องเรียนเดิม เช่น การทำ             E-Learning เพื่อลดข้อจำกัดในการเดินทาง เรียนเวลาไหนก็ได้ รวมถึงการเพิ่มภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เรียนได้ทดลองทำจริง แก้ปัญหาจริง

          “สิ่งสำคัญคือสถาบันการศึกษาต้องช่วยเป็นโค้ชให้ผู้เรียนค้นพบ Talent (ความสามารถ) รวมถึงความเชี่ยวชาญของตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าถ้าเขาเจอสิ่งที่ถนัดหรือสิ่งที่ชอบเพียงอย่างหนึ่ง แล้วทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดก็จะประสบผลสำเร็จได้ ซึ่งน่าจะดีกว่าการเรียนได้เกรด A ทุกวิชา แต่ไม่รู้ว่าจบแล้วจะไปทำอะไร สุดท้ายก็จะจมหายเข้าไปในตลาดแรงงาน” อาจารย์ธนารักษ์ ระบุ

          อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศฯ กล่าวต่อไปว่า ที่คณะของเราจะไม่มีกติกาว่าต้องผ่านวิชานี้ถึงจะสามารถเข้าเรียนวิชานั้นได้ เราทำให้การเรียนเป็นแบบ Customize (แบบเฉพาะเจาะจง) เพื่อให้ผู้เรียนค้นหาเส้นทางประสบความสำเร็จในแบบฉบับของตัวเอง เรามีการจัดพื้นที่ Co-working space ให้เกิดชุมชนความรู้ เกิดการแชร์ข้อมูล

          “ที่สำคัญเมื่อเรียนจบไปแล้วก็ต้องเข้าใจทั้งเทคโนโลยี การตลาด และธุรกิจ ไม่ใช่เป็นสายเทคโนโลยีแต่คุยกับแหล่งทุนไม่รู้เรื่อง คุยคนละภาษา ไม่เข้าใจการตลาดและธุรกิจ” นายกสมาคม AI ย้ำถึงทักษะที่โลกยุคใหม่ต้องการ และเป็นสิ่งสถาบันการศึกษาทุกแห่งต้องให้ความสำคัญในการติดอาวุธให้บัณฑิต

          โลกยังคงหมุนไป และเราคงไม่สามารถกั้นขวางการเติบโตของ AI ได้ ฉะนั้นในยุคที่ AI เชื่อมโยงกับทักษะแรงงาน ทางเดียวที่มนุษย์จะอยู่รอดคือการปรับตัวให้เท่าทัน และอย่าลืมว่าในระหว่างที่เราใช้ AI ตัวของ AI ก็ยังต้องพึ่งพามนุษย์เช่นกัน

          ทั้งหมดนี้ จึงเป็นโอกาสของทุกคนที่มีความพร้อม