Loading...

SIIT เปิดตัว “น้องยูงทอง” หุ่นยนต์อัตโนมัติโต้ตอบได้-วัดไข้ผู้ป่วยโดย “ไร้สัมผัส”

 

สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) พัฒนาหุ่นยนต์ “น้องยูงทอง” ช่วยเหลือแพทย์-พยาบาลดูแลรักษาและให้บริการผู้ป่วย เตรียมนำมาใช้ที่ รพ.สนามธรรมศาสตร์

วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2563

          “น้องยูงทอง” หุ่นยนต์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ไอแอพพ์ เทคโนโลยี จำกัด (iApp Technology Co., Ltd) โดยเห็นว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่สามารถช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลรักษาและให้บริการผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคติดต่อร้ายแรงได้เป็นอย่างดี ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

          ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช และ ผศ.ดร.ศศิพร อุษณวศิน อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร ร่วมกับ ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร ศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และบริษัท ไอแอพพ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวถึงการทำงานของหุ่นยนต์น้องยูงทองว่า หุ่นยนต์ดังกล่าวมีระบบ Chat Bot ในการโต้ตอบเป็นภาษาไทยกับผู้ควบคุมได้ และมีการใช้เทคโนโลยี LIDAR ในการจดจำตำแหน่งของเตียงผู้ป่วย ทำให้หุ่นยนต์สามารถเดินทางไปที่ห้องผู้ป่วยได้เอง โดยไม่ต้องใช้รีโมทในการควบคุม และยังสามารถวัดไข้ของผู้ป่วยโดยไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยได้อีกด้วย

การทำงานของหุ่นยนต์น้องยูงทอง

          1. มีระบบ Chat Bot ที่สามารถพูดคุยและโต้ตอบเป็นภาษาไทย โดยบุคลากรทางการแพทย์สามารถเรียกชื่อของหุ่นยนต์ว่า “น้องยูงทอง” เพื่อเริ่มต้นส่งคำสั่งหรือส่งคำสนทนา และสามารถพูดคุยเล่นเพื่อคลายความกังวลของผู้ป่วยได้

          2. สามารถเดินทางส่งอาหาร ยา​ หรือสิ่งของ และเครื่องมือทางการแพทย์อื่น ๆ ในห้องกักกันเชื้อได้โดยไม่ต้องใช้รีโมทคอนโทรล ซึ่งจะใช้เทคโนโลยี LIDAR สแกนสภาพภายในห้องพักของผู้ป่วยโดยอัตโนมัติและจดจำตำแหน่งของเตียงผู้ป่วยไว้ หุ่นยนต์จะสามารถเดินทางไปส่งยาระหว่างช่องจ่ายยาและเตียงผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ เพียงแค่วางของไว้ที่ถาดด้านหลังของหุ่นยนต์และบอกปลายทางที่ต้องการให้ไปส่ง โดยไม่ต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องใส่ชุด PPE เดินเข้าไปในห้องกักกันเชื้อ

          3. สามารถวัดไข้ของผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วย โดยหุ่นยนต์จะใช้กล้อง Webcam ร่วมกับกล้อง Infrared Red เพื่อใช้ในการจดจำใบหน้า (Face Detection) และวัดอุณหภูมิของผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ เพียงยืนอยู่หน้ากล้อง 2 - 3 วินาที และจะทำการส่งผลการวัดไข้ให้บุคลากรทางการแพทย์โดยอัตโนมัติ

          4. สามารถทำ Teleconference โดยบุคลากรทางการแพทย์สามารถควบคุมหุ่นยนต์ผ่านแอพลิเคชัน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเดินตรวจวอร์ดได้จากภายนอกหรือจากที่พักอาศัย โดยหุ่นยนต์สามารถใช้งานได้นานต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง หลังจากการชาร์จแบตเตอรีเต็ม

          ทั้งนี้ “หุ่นยนต์น้องยูงทอง” ได้ผ่านการทดลองใช้ที่วอร์ดสูตินารี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และเป็นที่ประทับใจของพยาบาลเป็นอย่างมาก และได้ทดลองให้บริการ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา และในขณะนี้ทีมผู้จัดทำได้กำลังปรับปรุงหุ่นยนต์หลังจากได้รับ Feedback จากการใช้งานจริง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานและเป็นประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งเมื่อหุ่นยนต์ผ่านการทดสอบทั้งหมดแล้ว จะนำไปใช้จริงในห้องกักกันเชื้อที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ คาดว่าจะสามารถใช้งานจริงได้ภายใน 1 - 2 สัปดาห์นี้