Loading...

นักวิจัยวิศวกรรมก่อสร้าง SIIT ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 3 ของ “นักวิจัยแกนนำ ปี 2562”

 

นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านคอนกรีตเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ได้รับคัดเลือกจาก สวทช. ให้เป็นนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2562 พร้อมยกระดับการวิจัยของไทย

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2562

  

          อีกหนึ่งข่าวดีส่งท้ายปี 2562 นี้ ทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ศ.ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล (หัวหน้าโครงการ) จากภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านคอนกรีตเทคโนโลยี ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 3 ของ “นักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2562” จากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยี และมาตรฐานการปฏิบัติงานก่อสร้างอย่างยั่งยืน” จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อให้นักวิจัยแกนนำที่มีศักยภาพสูงเกิดการรวมกลุ่มทำวิจัยที่เข้มแข็งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างสรรค์ งานวิจัยใหม่หรือต่อยอดงานวิจัย ที่ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงระหว่างภาคความรู้ ภาคการผลิตและบริการ และภาคสังคม พร้อมยกระดับการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย

          ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทช. และเลขานุการคณะกรรมการ ด้านการส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยแกนนำ กล่าวว่า โครงการนักวิจัยแกนนำ เป็นหนึ่งในกลไกที่ สวทช. เล็งเห็นว่า สามารถสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในประชาคมวิจัย ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จนนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จากการพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัย จำนวน 20 โครงการ ที่ส่งเข้ารับการพิจารณาภายใต้โครงการนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2562 ในปีนี้ คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์สนับสนุนนักวิจัย จำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย นักวิจัยด้านการแพทย์ 1 ท่าน และนักวิจัยด้านวิศวกรรมก่อสร้าง 2 ท่าน โดย สวทช. ให้การสนับสนุนงบประมาณ โครงการวิจัยด้านการแพทย์รวม 20 ล้านบาท และสนับสนุนงบประมาณโครงการวิจัยด้านวิศวกรรมก่อสร้างรวม 30 ล้านบาท (โครงการละ 15 ล้านบาท) ทั้งสามโครงการจะดําเนินงานในระยะเวลา 5 ปี นับจากนี้ ซึ่งผลงานที่จะเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของนักวิจัยแกนนำทั้ง 3 ท่าน จะมุ่งเน้นทั้งงานวิจัยในเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ บทความวิชาการ ต้นแบบผลิตภัณฑ์ ต้นแบบเทคโนโลยีและสิทธิบัตร

          รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการวิจัยดังกล่าวมุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงสร้าง โดยเฉพาะคอนกรีต องค์ความรู้ใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะนําไปสู่การประยุกต์ใช้งานได้จริง เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และการสนับสนุนโครงการนักวิจัยแกนนำจะเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่า และเป็นความภาคภูมิใจของนักวิจัย ที่จะสร้างผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงในระดับนานาชาติ รวมทั้งเป็นแกนหลักในการพัฒนานักวิจัยรุ่นกลางและรุ่นใหม่ไปสู่นักวิจัยแกนนำในอนาคต

          ศ.ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล (หัวหน้าโครงการ) ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านคอนกรีตเทคโนโลยี เปิดเผยถึงโครงการวิจัยว่า การจัดทํามาตรฐานและคู่มือปฏิบัติ โดยอาศัยผลการวิจัยศึกษาในประเทศไทย นับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้มีศักยภาพและมีความสามารถในการแข่งขันได้ โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างให้เกิดความยั่งยืน โดยทำการวิจัยพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ครอบคลุมขั้นตอนการปฏิบัติงานก่อสร้างอย่างครบวงจรในการให้ได้มาซึ่งโครงสร้างที่ไม่เพียงแค่แข็งแรงแต่ยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน คือ 1.) การวิเคราะห์โครงสร้างและการออกแบบ 2.) วัสดุสำหรับการก่อสร้าง 3.) เทคโนโลยีและการบริหารก่อสร้าง และ 4.) การบำรุงรักษา โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาแรงงาน และลดปัญหาด้านความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานก่อสร้าง รวมถึงการสร้างนวัตกรรม โดยเน้นที่โครงสร้างคอนกรีต ซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นหลัก เพื่อให้สามารถนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้งานจริง และการสร้างนวัตกรรม ได้แก่ การแก้ปัญหาและสร้างนวัตกรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคปฏิบัติอื่น ๆ การจัดทำมาตรฐานและคู่มือในการปฏิบัติที่เหมาะสมกับประเทศไทย ตลอดจนผลักดันไปสู่การเป็นมาตรฐานนานาชาติ และการแสดงตัวอย่างการใช้งานจริงและผลักดันให้เกิดการใช้งานจริง สำหรับวัสดุหรือเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ ๆ ที่ได้พัฒนาขึ้น โดยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม และภาคปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

          โดยนักวิจัยแกนนํา ประจําปี 2562 อีก 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาแนวทางการรักษาแบบ ใหม่ โดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์และการใช้ยามุ่งเป้าไปที่ไมโตคอนเดรีย เพื่อป้องกันรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว และสมองเสื่อมจากการใช้ยาเคมีบำบัดรักษามะเร็ง” และ ศ.ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จากโครงการวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมการออกแบบถนนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างยั่งยืน”

          ทั้งนี้ โครงการนักวิจัยแกนนำ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เพื่อสนับสนุนนักวิจัยศักยภาพสูงที่มีความเป็นผู้นำ ให้เกิดการรวมกลุ่มทำวิจัย โดยให้อิสระทางวิชาการพอสมควร ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยคุณภาพสูงในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไป