Loading...

BBA ธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลเวที Imagine the Future Scenarios Competition 2020

 

 

นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แข่งชิงแชมป์ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง คว้ารองอันดับ 1 เวที Imagine the Future Scenarios Competition 2020

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2563

  

          “ทีม Good Night Consulting” นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนประเทศไทย คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันออกแบบเมืองแห่งอนาคต Imagine the Future Scenarios Competition 2020 ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง ซึ่งในปีนี้ประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขัน โดยนำเสนอผลงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ในหัวข้อ “More and Cleaner Energy in an Asia Pacific or Middle Eastern city – How will residents live, work, and play?” ซึ่งเน้นรูปแบบสร้างการมีส่วนร่วมและการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังอนาคตที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อมโลกที่ยั่งยืน

          ทีมนักศึกษาคนเก่งธรรมศาสตร์ตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันนี้ ประกอบไปด้วย นายอัครวีร์      ศรีพงษ์ (โดม) นายวิวิชญ์ สินสาฎก (แคน) นายกฤตภาส ตันติสุวรรณกุล (Peace) นางสาวเกสรา ชุ่มคำ (กีตาร์) นางสาวพัทธนันท์ เทียวส่องสกุล (Pie) นางสาวเปมิกา ชุลีวัฒนะพงศ์ (Lily) นายสุขวุฒิ ลีกรัณย์ชัย (Gem) นายทัศ ศรีสุนทร (ทัศ) จากโครงการปริญญาตรีบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (BBA) นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความท้าทาย = จุดเริ่มต้น

          กฤตภาส – ผมได้ติดตามเพจต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำเคสธุรกิจ และ Startup และได้เห็นทางเพจบริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย แชร์เกี่ยวกับการแข่งขัน Imagine the future ในหัวข้อที่ให้คิดว่าในปี 2050 เราจะดำเนินชีวิตอย่างไร ทำงานอะไร และเล่นอะไรเพื่อผ่อนคลาย ผมรู้สึกท้าทายกับโจทย์นี้มาก ๆ มันไม่เหมือนกันโจทย์เคสส่วนใหญ่ที่มีเป้าหมายชัดเจน ผมเลยตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ครับ

เส้นทางสู่การแข่งขันระดับนานาชาติ

          อัครวีร์ – การแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 รอบใหญ่ ๆ คือ 1. รอบคัดเลือกผ่านฟอร์มออนไลน์ (ภายในประเทศ) 2. รอบระดับประเทศ และ 3. ระดับนานาชาติ จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ โดยรอบคัดเลือกภายในประเทศ จะคัดเลือกผ่านการกรอกฟอร์มที่ทางการแข่งขันจัดให้ คัดจนเหลือ 6 ทีมสุดท้าย เพื่อแข่งขันในรอบระดับประเทศ โดยใช้วิธีการ Conference Call และรอบสุดท้ายระดับนานาชาติ ซึ่งได้ตัวแทนจาก 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ อียิปต์ และประเทศไทย ใช้การ Conference Call เช่นเดียวกัน โดยจะเป็นการเปิดวิดีโอสรุปของแต่ละทีม แล้วจึงเป็นการถาม-ตอบ ระหว่างกรรมการและทีมต่าง ๆ ก่อนไปแข่งขันระดับนานาชาติ ทีมเราได้นำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงผลงานให้ตอบโจทย์กรรมการรอบนานาชาติให้ได้มากที่สุด

ได้เวลานำเสนอแผนงานที่ท้าทาย

          เปมิกา - สถานการณ์ที่นำเสนอเราแบ่งเป็นสองสถานการณ์ที่เกิดจากความแตกต่างของสภาพแวดล้อม และสภาพสังคม โดยสถานการณ์แรกให้ชื่อว่า Honeybee เกิดภัยธรรมชาติบ่อย ผู้คนร่วมมือฟันฝ่าอุปสรรค เทคโนโลยีเน้นเสริมสร้างความปลอดภัย และเน้นการสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นเพื่อลดภัยทางธรรมชาติ ส่วนสถานการณ์ที่สองให้ชื่อว่า Lazy Sloth เป็นที่ที่แทบไม่เกิดภัยธรรมชาติ ผู้คนจึงขวนขวายความสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากัน รักสบาย เทคโนโลยีส่วนใหญ่จึงเน้นตอบสนองความสบายนี้ โดยมีการทดแทนแรงงานด้วยหุ่นยนต์ และมี White Collar มากขึ้น ซึ่งสองสถานการณ์นั้นได้อ้างอิงจากเมืองกรุงเทพ เนื่องจากเป็นเมืองที่เรารู้จักเป็นอย่างดี และมีพื้นฐานแน่นที่สุด

การปรับใช้วิชาเรียนกับการแข่งขัน

          ทัศ - จะมี HR หรือ Human Resource ที่ต้องใช้ในการจัดการคนในทีม มอบหมายหน้าที่กัน และกําหนดเวลางาน ต่อมาคือ OM หรือ Operation Management ใช้วางแผนงานว่าเราควรจะทํางานในลักษณะใด ทําอะไรก่อน อะไรหลัง จัดการงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากและกินเวลาน้อย ใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุด และสุดท้ายคือ MK หรือ Marketing จากการที่เป็นงานนําเสนอปลายเปิด เราจึงต้องพยายามดึงความสนใจของกรรมการและทุกคนให้จดจ่อและสนใจงานของเราให้มากที่สุด เราต้องคอยคิดว่าต้องนําเสนองานรูปแบบไหนถึงจะน่าสนใจ และนำเสนออย่างไรให้ดึงดูดและมีหลักการกับความน่าเชื่อถือในเวลาเดียวกัน

ความผิดหวังจะกลายเป็นแรงผลักดัน

          กฤตภาส พวกเรารู้สึกเสียดาย แม้ว่าเราจะคาดหวังว่าจะชนะกลับมา แต่การแข่งขันนี้ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าข้อผิดพลาดเราคืออะไร และเราควรจะแก้ไขมันอย่างไร เพื่อพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก และหากเรามีโอกาสไปแข่งขันอีกรอบ เชื่อเราเถอะครับว่า “เราจะเป็นทีมที่ดียิ่งกว่าเดิมแน่นอนครับ”