Loading...

ก้าวสู่ ‘การศึกษา’ ในโลกอนาคต เปิดวิสัยทัศน์ ‘รศ.เกศินี วิฑูรชาติ’ EFMD Fellow หนึ่งเดียวในอาเซียน

 

เปิดวิสัยทัศน์ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ EFMD Fellow หนึ่งเดียวในอาเซียน ต่อการบริหารและการเรียนการสอนในอนาคต

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2563

  

          ชื่อของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังระส่ำจากโควิด-19 โดยเฉพาะการมีบทบาทนำหรือเป็นต้นแบบของการนำ “สถาบันการศึกษา” มารับใช้สังคม

          และชื่อของ รศ.เกศินี คนเดียวกันนี้ กำลังถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางบนเวทีโลก ภายหลังได้รับแต่งตั้งให้เป็น “สมาชิกกิตติมศักดิ์” ตลอดชีพ หนึ่งเดียวในอาเซียน ขององค์กรรับรองมาตรฐานการศึกษาสหภาพยุโรป หรือที่รู้จักกันในชื่อ EFMD (European Foundation for Management Education)

          EFMD ถือเป็น 1 ใน 3 ของสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาระดับโลกด้านบริหารธุรกิจ เคียงคู่มากับ AACSB มาตรฐานจากสหรัฐอเมริกา และ AMBA มาตรฐานจากสหราชอาณาจักร โดยยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 องค์กรนี้ ได้รับการยกย่องให้เป็น 3 มงกุฎ หรือ Crown ด้าน Business School

          เชื่อหรือไม่ว่า ท่ามกลางโลกธุรกิจที่เปิดกว้าง และการจัดการเรียนการสอนโดยสถาบันชั้นนำทั่วโลก กลับมีไม่ถึง 1% ที่ได้รับการรับรองทั้ง 3 มาตรฐาน ทว่า Business School ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การนำของ รศ.เกศินี สามารถคว้าทั้ง 3 มงกุฎ (Triple Crown) มาครอบครอง

          และเมื่อเดือนที่ผ่านมา EFMD ก็เพิ่งแต่งตั้งให้ “รศ.เกศินี” เป็น EFMD Fellow หรือสมาชิกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ ซึ่งถือเป็นการ “เปิดโอกาส” ครั้งสำคัญ ที่จะนำมาสู่ความเข้มแข็งของภาคธุรกิจในประเทศไทย

          “ไม่ใช่ว่าใครจะเข้าเป็นสมาชิกของ EFMD ได้ เพราะทาง EFMD จะเป็นผู้คัดเลือกจากมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพและสามารถทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันในระดับโลกได้เท่านั้น ส่วนการเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ก็จะยิ่งได้ทำงานร่วมกันในเชิงลึก ช่วยกันออกแบบหลักสูตรและองค์ความรู้ทางธุรกิจเพื่อนำไปปรับใช้ทั่วโลก” รศ.เกศินี อธิบาย

          รศ.เกศินี อธิบายต่อไปว่า ในโลกการบริหารธุรกิจทุกวันนี้ ทั่วโลกจึงให้น้ำหนักไปที่ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้” เพราะการทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะทำให้เราเห็นทิศทาง เทรนด์ ทักษะ และความต้องการในโลกอนาคต ซึ่ง EFMD ก็คาดหวังให้ธรรมศาสตร์เป็นเครือข่าย หรือเป็น Hub ของอาเซียน ที่จะไปเชื่อมโยงกับองค์กรภาคธุรกิจ ตลอดจนสถาบันที่จัดการเรียนการสอนด้านการบริหารธุรกิจ เพื่อให้ก้าวไปสู่คุณภาพในระดับนานาชาติด้วยกัน

          สำหรับโจทย์ที่ท้าทายต่อการศึกษาในโลกอนาคต อาจารย์เกศินี บอกว่า การศึกษาอาจไม่เป็นแพทเทิร์นเดิม ๆ ที่จบจากประถมแล้วต่อมัธยม แล้วก็เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เพราะเด็กจำนวนหนึ่งมองว่าสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองโดยการฝึกอบรม หรือปฏิบัติงานจริงกับภาคธุรกิจ

          “คนจะให้คุณค่ากับทักษะ กระบวนการความคิด มากกว่าปริญญา หรืออย่างอาชีพในอนาคตก็จะเกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่คนยุคเก่าไม่รู้จัก เด็กที่เกิดวันนี้อาจจะประกอบอาชีพที่ยังไม่มีอยู่จริงในวันนี้ก็ได้ นี่คือโจทย์ที่ท้าทาย และการศึกษาต้องปรับให้เท่าทัน” รศ.เกศินี ระบุ

          ในส่วนของมหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มองว่าจำเป็นต้อง “ปรับโครงสร้าง” ทั้งการบริหารและการเรียนการสอนใหม่ เนื่องจากโลกปัจจุบันเรียกร้องทักษะที่รอบด้าน การศึกษาจึงไม่ควรซอยเล็กซอยน้อยเป็นสาขายิบย่อยแบบทุกวันนี้ แต่จะต้องให้ภาพที่เป็นองค์รวม เป็นภาพ macro ฉะนั้นแต่ละภาคแต่ละคณะอาจต้องมีการยุบรวม หรือผสมผสานกันมากขึ้น

          สำหรับวิธีการเรียนจะต้องปรับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การอ่านจากตำราหรือเรียนรู้ด้วยตัวเองอาจไม่เพียงพอ ต้องมีการปฏิบัติงานจริง ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงคนทั้งโลก ที่สำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ lifelong learning

          “ในโลกอนาคต คนอาจไม่ได้ต้องการปริญญา แต่ยังต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิต” รศ.เกศินี เน้นย้ำ และว่า มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องปรับตัวโดยต้องให้ทางเลือกและเครื่องมือแก่ผู้เรียน เช่น ในช่วงแรกให้เขาเรียนในภาพกว้างอย่างรอบด้านก่อน เมื่อผู้เรียนชัดเจนในตัวเองขึ้นอาจค่อยลงลึกในบางสาขาวิชา

          “เด็กบางคนเขายังไม่รู้หรอกว่าต้องการเรียนอะไร เขาขอแค่สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ก่อนเพื่อความปลอดภัย ธรรมศาสตร์ก็เลยเปิดหลักสูตรที่เรียกว่า frontier school คือนักศึกษายังไม่ต้องเลือกคณะหรือหลักสูตร เราเปิดโอกาสให้เรียนไปก่อน 3-4 ภาคเรียน แล้วค่อยเลือกว่าตัวเองจะเรียนคณะใด ซึ่งจะช่วยให้เขาค้นพบตัวเอง ค้นพบความถนัด และต่อยอดไปในอนาคตได้” รศ.เกศินี ยกตัวอย่าง

          รศ.เกศินี เทียบเคียงให้เห็นภาพอีกว่า โลกอนาคตเป็นโลกที่ต้องมีความยืดหยุ่นสูง นักศึกษาบางคนอาจจะเรียนแล้วหยุดชั่วคราว หรือเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย มหาวิทยาลัยต้องเข้าใจธรรมชาตินี้และปรับตัวให้สอดคล้อง อย่างธรรมศาสตร์จะมีหลักสูตร Gen Next Academy ที่เรียนผ่านออนไลน์ ผู้เรียนสามารถเรียนแล้วเก็บหน่วยกิตเป็นเครดิตแบงค์เอาไว้ได้ ไม่ต้องเรียนต่อเนื่องจนจบทีเดียว นี่เป็นตัวอย่างของการให้เครื่องมือและทางเลือกแก่ผู้เรียน

          ท้ายที่สุด การศึกษาในโลกอนาคตคงหนีไม่พ้นความเชื่อมโยงกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกก็ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันนี้ โดยการนำ AI เข้ามาบริหารจัดการโครงสร้างขั้นพื้นฐานทั้งหมด ตลอดจนจัดตั้งศูนย์เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนเข้ามาเรียนรู้ในด้านนี้ ซึ่งเป้าหมายในระยะสั้นของธรรมศาสตร์ก็จะก้าวไปสู่การเป็น “AI University” ด้วยเช่นกัน โดยทั้งหมดนี้ สอดรับกับกรอบแนวคิด Defining the Future ในการบริหารตลอดมา