Loading...

นักศึกษา มธ. โชว์แผนการตลาด “จัดจ้าน สุดไอเดีย” ผ่านแอนิเมชัน คว้าแชมป์ J-MAT ครั้งที่ 29

 

ทีมตี๋ขายซอส คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการการประกวดแผนการตลาด J-MAT AWARD ครั้งที่ 29 ในหัวข้อ “จัดจ้าน สุดไอเดีย” กับผลิตภัณฑ์ซอสพริก MadebyTODD

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2563

          “ทีมตี๋ขายซอส” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเวทีระดับประเทศในโครงการการประกวดแผนการตลาด J-MAT AWARD ครั้งที่ 29 ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโดยชมรมยุวสมาชิกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย หรือ J-MAT ภายใต้การดูแลของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ร่วมกับบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ภายใต้หัวข้อ “จัดจ้าน สุดไอเดีย” กับผลิตภัณฑ์ซอสพริก ตรา MadebyTODD

          โดยเป็นความสำเร็จจาก 9 นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ประกอบด้วย นายสมเจต สกุลคู (หัวหน้าทีม) นางสาวกัญญ์วรา ลิมปตานนท์ นายณัฐนันท์ อมรวรสิน นายสพล โหตระไวศยะ นายปวีณ ผลพฤกษสกุล และนายกันต์ธร สำเภาทอง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาเอกการตลาด พร้อมทั้งนางสาวกาญจน์สุภา ศิริพรวิวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ นางสาวศุภัชฌา ราญรอน และนายสนทรรศ ลี้ตระกูล คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาวิชาเอกโฆษณา

จุดเริ่มต้นของ “ตี๋ขายซอส” แชมป์ J-MAT AWARD

          นางสาวศุภัชฌา ราญรอน: เรารู้จักโครงการประกวดรายการนี้จากรุ่นพี่ค่ะ เพราะว่ารุ่นพี่ในคณะเคยเข้าร่วมแข่งขัน ตอนแรกที่เห็นเปิดรับสมัคร เราก็รวมทีมกับเพื่อน ๆ ที่ปกติจะทำงานวิชาในเอกการตลาดด้วยกันอยู่แล้ว และเราอยากได้เพื่อนจากต่างคณะบ้าง ทีมของเราจะได้มีความหลากหลาย จึงได้ชักชวนเพื่อนจากคณะเศรษฐศาสตร์และคณะวารสารศาสตร์ฯ อีก 2 คนมาร่วมทีม ตอนนั้นมีแอบกังวลว่าเราทั้ง 9 คน ที่ไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน จะสามารถทำงานร่วมกันได้ไหม แต่ตอนเจอกันวันแรก ทุก ๆ คนก็เข้ากันได้ดี และรู้สึกตั้งแต่วันนั้นเลยว่าทีมของเราเป็นทีมที่ดีแน่นอนค่ะ

          นางสาวกัญญ์วรา ลิมปตานนท์: ส่วนที่มาของชื่อทีม ด้วยความที่หัวหน้าทีมชื่อเล่นว่า “ตี๋เล็ก” (นายสมเจต สกุลคู) และก่อนหน้านี้ได้ไปแข่งเคสอีกรายการมาโดยใช้ชื่อทีมขึ้นต้นด้วยคำว่า “ตี๋” แล้วชนะ เลยคิดว่าชื่อนี้มงคลกับเราแน่เลย แล้วพอดีโจทย์เป็นผลิตภัณฑ์ซอส เลยคิดเล่น ๆ ว่าชื่อ “ตี๋ขายซอส” พอเสนอไป เพื่อน ๆ ก็เห็นด้วยค่ะ จึงใช้ชื่อนี้เป็นชื่อทีม

“ตี๋ขายซอส” เตรียมพร้อมกับการแข่งขันอย่างไร

        นายณัฐนันท์ อมรวรสิน: เราทุกคนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในวิชาเอกทุกตัวเพื่อนำเอาความรู้ ความคิดที่แตกต่างกันของทั้งกลุ่มมาใช้ และถกเถียงกันให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ปรึกษากับรุ่นพี่ที่เคยแข่งแล้วเข้ารอบ 7 ทีม ขอดูงานเพื่อเป็นแนวทางในการแข่ง และปรึกษากันว่าจะขอให้ใครมาเป็นที่ปรึกษาในงานนี้ และทุกคนในทีมก็เห็นพ้องตรงกันว่าต้องเป็น ผศ.ปิติพีร์ รวมเมฆ เพราะเป็นคนที่พารุ่นพี่ปีก่อน ๆ เข้ารอบ 7 ทีมสุดท้าย และแน่นอนครับปีนี้อาจารย์เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของ “ทีมตี๋ขายซอส”

          นางสาวกาญจน์สุภา ศิริพรวิวัฒน์: ทุกคนในกลุ่มจริงจังกับการแข่งขันนี้ เพราะอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มเราเคยพูดไว้ว่า “ต้องได้รางวัล 1 ใน 3 ทีมเท่านั้น นอกนั้นไม่เอา” พวกเรายังคิดตลกอยู่เลยว่าจะเป็นไปได้จริงหรอ แค่ติด 24 ทีมก็เก่งมากแล้ว ซึ่งในระยะเวลา 1 เดือนที่ต้องทำเล่ม พวกเราทำทุกวิถีทางที่ให้ได้เจอกันให้ได้มากที่สุด เพราะต่างคนต่างมีเวลาว่างไม่ตรงกัน จนสุดท้ายเราต้องเปิดบ้านของสมาชิกในทีมเพื่อเป็นแคมป์ J-MAT ให้ทุกคนได้อยู่ด้วยกัน ยิ่งใกล้เวลาส่งเล่มพวกเรายิ่งตื่นเต้น และเป็นช่วงเวลาที่โหดมาก ๆ ค่ะ เพราะเป็นช่วงที่ใกล้สอบมิดเทอม แต่เราก็ทำสำเร็จ พวกเราติด 1 ใน 7 ทีมสุดท้าย โดยพวกเราพรีเซนต์แผนผ่านการเล่าเป็นนิทานผจญภัยค่ะ

แผนการตลาดที่ดีที่สุดของ J-MAT AWARD ครั้งที่ 29

           นายสมเจต สกุลคู: ผมขอตั้งชื่อแผนการตลาดนี้ว่า ExTODDinary โดยพวกเราได้วางเป้าหมายในแต่ละปีให้กับตัวของซอส TODD ที่มุ่งสู่ซอสสามัญประจำบ้าน โดยเราเริ่มจากศึกษาปัจจัยทั้งภายในและภายนอกธุรกิจของ Made By TODD เราได้วางแผนงานอย่างชัดเจน ตามความสนใจหรือความถนัด ซึ่งหากมีปัญหาก็จะเรียกทุกคนมารวมตัวเพื่อให้รู้ถึงปัญหาและร่วมกันคิดแนวทางแก้ไข รวมถึงไปปรึกษากับอาจารย์ ซึ่งสิ่งที่อาจารย์ให้คำปรึกษานั้นทำให้พวกเราเปิดโลกว่าในโลกของการทำงานจริงมันเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้เราสามารถนำมาปรับปรุงและพัฒนาแผนเราได้จริง

           นายสนทรรศ ลี้ตระกูล: ด้วยความที่การนำเสนอแผน J-MAT Award ครั้งนี้เป็นการนำเสนอแผนแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก ทีมของเรามองว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เพราะจะต้องดึงความสนใจและถ่ายทอดแผนให้กรรมการสนใจและเข้าถึงได้ พวกเราจึงนำเสนอออกมาผ่านการเล่า Story ด้วย Animation ตัวการ์ตูน โดยให้ข้อมูลสาระสำคัญ รวมถึงการวิเคราะห์ตัวเลขต่าง ๆ ของแผนเรา และเราก็วางโครงเรื่องออกมาเป็น Agenda ต่าง ๆ ตั้งแต่ The Brief, The Discovery, The Mission, The Impact จนมาสู่ The Success แน่นอนว่าพอเราเล่าผ่าน Animation นอกจากเรื่องราวจะดูเพลินและไม่น่าเบื่อแล้ว ยังสามารถคงสาระที่เป็นหัวใจสำคัญไว้ได้

แรงหนุนจากเพื่อนและอาจารย์ เป็นอีกหนึ่งกำลังแห่งความสำเร็จของ “ตี๋ขายซอส”

          นายสพล โหตระไวศยะ: ย้อนกลับไปตอนแรกที่สมัครแข่งขัน พวกเราคาดหวังว่าจะผ่านเข้ารอบ 50 หรือ 24 ทีมสุดท้ายก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่วันที่ประกาศว่าทีมของเราเข้ารอบ 7 ทีมสุดท้าย และเป็นทีมจากธรรมศาสตร์ทีมเดียวด้วย นอกจากความดีใจแล้วพวกเราก็รู้สึกกดดันอยู่ไม่น้อย จังหวะนั้นพวกเราทุกคนก็คิดไว้ว่าใส่ไปให้สุด ผลออกมาอย่างไรถือว่าเต็มที่กันทุกคน แต่ลึก ๆ ก็แอบคาดหวัง มาขนาดนี้แล้วถ้าได้ที่ 1 คงจะเป็นอะไรที่ประสบความสำเร็จมากเลยทีเดียวครับ รวมถึงเพื่อน ๆ และอาจารย์ที่คอยสนับสนุนมาตลอด ความอบอุ่นที่ได้รับนี้เป็นอีกหนึ่งรางวัลที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง และพวกเราได้มาทราบภายหลังว่าครั้งล่าสุดที่ทีมจากธรรมศาสตร์ ได้รางวัลชนะเลิศต้องย้อนกลับไป 13 ปีกันเลย ทำให้เรารู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับการชนะการแข่งขันครั้งนี้ครับ

          ความตั้งใจและความมุ่งมั่นของ “ทีมตี๋ขายซอส” ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในปีนี้มาได้ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาผงาดคว้ารางวัลชนะเลิศได้อีกครั้ง นั่นคือ “ผศ.ปิติพีร์ รวมเมฆ” อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี อาจารย์ที่ปรึกษาทีมตี๋ขายซอส และยังเป็นที่ปรึกษากลยุทธ์และการตลาดให้กับ SMEs และธุรกิจต่าง ๆ มากมาย

          ผศ.ปิติพีร์ รวมเมฆ กล่าวว่า ด้วยความเชื่อมั่นของอาจารย์ที่ว่า “คนเก่ง” ไม่ได้วัดกันจากว่าเรียนปีไหน หรือเอกอะไร แต่วัดกันที่ Competency และ Teamwork เลยอยากจะลองปั้นเด็ก ๆ ทีมนี้ให้ได้ที่ 1 ส่วนการ Coach อาจารย์มองว่าเราเป็นทีมเดียวกัน ดังนั้น สิ่งแรกที่ทำคือ เราต้องตั้งเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งชัยชนะและความภูมิใจของเรา ไม่ใช่การได้รางวัล แต่คือ แผนที่นำเสนอสามารถนำไปใช้ได้จริง และสร้าง Big Impact ให้กับแบรนด์

          “อาจารย์ไม่ปิดกั้นความคิดแต่เราพาเขาไปพบกับโลกของการทำงานจริง เราดึงศักยภาพและให้เขาได้ทำให้สุด เรียนรู้ สร้างสรรค์ให้สุดโต่ง แต่ไม่ฝันเฟื่อง ทุกสิ่งที่ทำอยู่บนพื้นฐานของการทำได้จริง แต่มี Strategic Direction และบนจรรยาบรรณของนักการตลาดที่ดี และรางวัลนี้ขอยกให้กับทีมทุกคน เด็ก ๆ เก่ง Active ไฟแรง ใจกว้าง เปิดรับกับการเรียนรู้ และมี Teamwork ที่ดีมาก ถือว่าเป็นความแตกต่างที่ลงตัวค่ะ” ผศ.ปิติพีร์ กล่าวทิ้งท้าย

          J-MAT Award เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษามาประยุกต์ใช้ในการวางแผนการตลาด ทั้งยังฝึกให้รู้จักวิเคราะห์ ค้นหาข้อมูลเชิงธุรกิจ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และรู้จักการทำงานเป็นทีมอย่างมีระบบ เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ จากประสบการณ์การเขียนแผนการตลาดของจริงที่ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน