Loading...

เปิดข้อมูลสถิติการตีพิมพ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“การตีพิมพ์ผลงานถือเป็นก้าวแรกและก้าวที่สำคัญของการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับสากล”

 

 

          การวิจัยและพัฒนาถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสร้างประสิทธิภาพด้านการพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยที่สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาประเทศให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น นอกจากงานวิจัยจะนำมาซึ่งการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ แล้ว การวิจัยยังเป็นช่องทางหนึ่งในการค้นคว้าหาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย และเพื่อให้องค์ความรู้ที่ได้รับการค้นคว้าใหม่ ๆ นี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย การตีพิมพ์ผลงานวิจัยจึงเป็นสิ่งสำคัญของนักวิจัยและบุคลากรด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย เพราะนอกจากการตีพิมพ์ผลงานวิจัยจะยกระดับการศึกษาในวงกว้างแล้วยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยในระดับสากลอีกด้วย

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงพยายามอย่างมากในการผลักดันและแสวงหาแนวทางการสนับสนุนคณาจารย์และบุคลากรด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยให้มุ่งเน้นการตีพิมพ์ผลงานมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในฐานข้อมูลระดับสากลอย่าง SCOPUS และ ISI Web of Science เพราะนอกจากฐานข้อมูลเหล่านี้จะเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังช่วยให้การกระจายองค์ความรู้มีความแพร่หลายอีกด้วย มหาวิทยาลัยจึงมีโครงการปีแห่งการตีพิมพ์และสร้างสรรค์นวัตกรรม (YPIN) เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมมือกันในการยกระดับมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการส่งเสริมความเป็นสากลให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

ภาพรวมการตีพิมพ์ผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานข้อมูล SCOPUS

          YPIN Talk Series ครั้งนี้ ขอนำเสนอข้อมูลการตีพิมพ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานข้อมูล SCOPUS ซึ่งเป็นฐานข้อมูลระดับนานาชาติที่สำคัญ และเป็นฐานข้อมูลที่หน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยในทุกสำนักใช้ในการจัดอันดับ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจให้เราได้ลองหยิบยกขึ้นมาพูดคุยและพิจารณากันดูว่าปัจจุบันสถานะการตีพิมพ์ของมหาวิทยาลัยอยู่ ณ จุดใดของประเทศ และทิศทางการตีพิมพ์และภาพรวมของทั้งมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มไปทางไหน

ตารางที่ 1 จำนวนผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูล SCOPUS ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย

ภาพที่ 1 กราฟแสดงจำนวนผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus

          จากภาพที่ 1 เห็นได้ชัดว่าในช่วงเริ่มต้นที่มีการเก็บข้อมูลการตีพิมพ์ผลงานในปี 2003 มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีจุดเริ่มต้นในลักษณะใกล้เคียง มีผลงานการตีพิมพ์ที่ไม่แตกต่างกันมาก ยกเว้นสองมหาวิทยาลัยที่ทำงานด้านการวิจัยมาอย่างยาวนานและรับงบประมาณปริมาณมากจากรัฐบาลในด้านการวิจัย ฉะนั้นกล่าวได้ว่าจำนวนการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในฐานข้อมูลสากลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศ ในช่วงแรกนั้นมีสถานะที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน

          เมื่อดูกราฟเส้น จะเห็นข้อมูลที่น่าสนใจว่านับตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2010 การตีพิมพ์ผลงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยภาพรวมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีลักษณะการเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ จนกระทั่งภายหลังปี 2010 เป็นต้นมา แนวโน้มการตีพิมพ์ผลงานในฐานข้อมูล SCOPUS ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ค่อนข้างมีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น โดยมีสถิติการตีพิมพ์ที่ตกลง หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

          หากนำข้อมูลการตีพิมพ์ดังกล่าวไปพิจารณาเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนทั้งบุคลากรและงบประมาณใกล้เคียงกัน จะยิ่งพบว่าการตีพิมพ์ผลงานของมหาวิทยาลัยอื่น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอัตราใกล้เคียงหรือมากกว่าปี 2010 ส่งผลให้นับจากปี 2010 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยอื่น ๆ มีการตีพิมพ์ผลงานทิ้งห่างจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากยิ่งขึ้น ถ้าพิจารณาตัวเลขการตีพิมพ์ในปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าในปี 2017 ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีตัวเลขเพียง 779 ชิ้นเท่านั้น ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันมีอัตราการตีพิมพ์แตะหลัก 1,000 ชิ้นเป็นส่วนใหญ่แล้ว

ธรรมศาสตร์อยู่ตรงไหนของมหาวิทยาลัยในเอเชีย?

          หากพิจารณาผลการจัดอันดับ QS ซึ่งถือเป็นสถาบันจัดอันดับชั้นนำ พบว่าผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในเอเชีย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเราอยู่ในลำดับที่ 118

ภาพที่ 2 กราฟแสดงจำนวนผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus ของมหาวิทยาลัย Top 120 ในเอเซีย

          อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อมูลเฉพาะด้านการตีพิมพ์ผลงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยที่อยู่ใน Top 120 ของ QS Ranking ระดับเอเชีย จะพบว่าปัจจุบันสถานะด้านการตีพิมพ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการจัดอันดับของ QS อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำกว่าเฉลี่ย และจัดอยู่ในกลุ่มท้ายของกลุ่ม เห็นได้จากข้อมูลที่แสดงในภาพที่ 2 เส้นประสีฟ้าที่แสดงแนวโน้มค่าเฉลี่ยจำนวนการตีพิมพ์ผลงานของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเอเชีย ในขณะที่จุดที่ส้มเป็นตัวเลขการตีพิมพ์ และเส้นสีส้มเป็นเส้นแนวโน้มการตีพิมพ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การตีพิมพ์ผลงานในระดับกลุ่มสาขาของมหาวิทยาลัย

          หากลองมาเจาะข้อมูลการตีพิมพ์ในรายกลุ่มสาขาภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราแบ่งเป็น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะแสดงต่อไปนี้เป็นการแสดงเพื่อให้เห็นสถานะการตีพิมพ์ของกลุ่มสาขาต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีส่วนต่อการผลักดันให้การตีพิมพ์ผลงานในฐานข้อมูลสากลของมหาวิทยาลัยเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่ากลุ่มสาขาใดทำงานมากกว่ากัน เพราะโดยพื้นฐานเรื่องการทำงานวิจัยและการตีพิมพ์ผลงานของแต่ละกลุ่มสาขานั้นล้วนมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว

* หมายเหตุ จำนวนตีพิมพ์ในกราฟไม่ตรงกับจำนวนตีพิมพ์ในภาพรวมทั้งหมด เนื่องจากผลงานตีพิมพ์เป็นผลงานร่วมระหว่างกลุ่ม

          จากกราฟเส้นที่แสดงข้างต้นเห็นได้ชัดเจนว่าการตีพิมพ์ผลงานของกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ค่อนข้างมีความโดดเด่นคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของการตีพิมพ์ผลงานทั้งหมดของทั้งมหาวิทยาลัย รองลงมาเป็นกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และต่อท้ายด้วยกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ จากกราฟดังกล่าวเรายังสามารถเห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของการตีพิมพ์ผลงานของแต่ละกลุ่มสาขาอีกด้วย โดยเห็นได้ชัดว่าในกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพมีการเติบโตในลักษณะก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีการลดลงบ้างในบางครั้ง แต่ความชันของกราฟยังคงค่อนข้างสูง ในขณะที่เมื่อพิจารณาข้อมูลของกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ก็จะพบว่าความชันของกราฟค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอีกสองสาขาข้างต้น

สรุป

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเห็นลักษณะข้อมูลและกราฟการตีพิมพ์ผลงานของรายกลุ่มสาขาเช่นนี้ การทำงานผลักดันเรื่องการตีพิมพ์งานวิจัยในฐานข้อมูล SCOPUS อาจต้องมุ่งเน้นให้เกิดการปรับตัวของความชันในกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันกลุ่มสาขาอื่น ๆ ทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ถึงแม้ว่าโดยรวมจะมีการผลิตงานที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกันภายในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ยังคงจำเป็นต้องเร่งการผลิตผลงานเพื่อตีพิมพ์อีกจำนวนมากพอสมควรเพื่อให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถแข่งขันได้ และแน่นอนว่าเพื่อให้สถิติการตีพิมพ์ของทั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น จึงไม่ใช่หน้าที่ของกลุ่มสาขาใด สาขาหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน และตอนนี้ฝ่ายวิจัย ก็มีการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณในการสนับสนุนการตีพิมพ์ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนอาจารย์และนักวิจัย

***หมายเหตุ: ขอบคุณข้อมูลจากกองพัฒนาคุณภาพ