Loading...

เข้าใจ ‘ซึมเศร้า’ ในวัยรุ่น หยุดกดดันด้วยความรักแบบมีเงื่อนไข

เข้าใจภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นที่ควรรู้ คุยกับอาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

     ในประเทศไทย วัยรุ่นจำนวนมากมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีภาวะซึมเศร้า โดยกรมสุขภาพจิต ได้เปิดเผยผลประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่อีกร้อยละ 22 มีการเข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งและความรุนแรงในครอบครัว จนนำไปสู่อัตราเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ซึ่งปัจจัยจากครอบครัวและคนรอบข้างนี้เองมักถูกละเลยหรือไม่ค่อยพูดถึง แต่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น

     วันนี้เรามาพูดคุยกับ อาจารย์อธิชาติ โรจนะหัสดิน อาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงเรื่อง ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น อาการ สาเหตุ และการเยียวยาที่เริ่มต้นจากครอบครัว

อาการของโรคซึมเศร้า

     ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ในเรื่องของอารมณ์ เราจะรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง หรือว่างเปล่า ในส่วนของความคิดก็จะมีความคิดในเชิงลบ ตัวอย่างเช่น มองว่าตัวเองไม่มีคุณค่า หรือคิดว่าคนอื่นมองเราในแง่ไม่ดี และอาจไม่ค่อยมีสมาธิ เวลาทำอะไรก็หงุดหงิดง่าย ส่วนด้านพฤติกรรมก็จะมีตั้งแต่รู้สึกขี้เกียจ ไม่มีแรง กิจกรรมที่เคยชอบทำกลับไม่รู้สึกอยากทำ มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ เช่น นอนน้อยหรือนอนมาก หรือบางคนอาจน้ำหนักลดลงมากกว่าปกติ เป็นอาการที่เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า

     “เราต้องเข้าใจก่อนว่า ‘ซึมเศร้า’ สามารถเป็นได้ทั้งโรคที่ต้องให้แพทย์วินิจฉัย และเป็นในลักษณะของอาการ โดยหากมีอาการที่เสี่ยงต่อการเป็นซึมเศร้าอย่างน้อย 5 อาการควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษา แต่หากมีไม่ถึงอาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะซึมเศร้า”

สาเหตุของภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น

     ปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า มีตั้งแต่ปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยภายนอกทางสังคม ตัวอย่างเช่น ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติในการเป็นโรคซึมเศร้า มีภาวะหรืออาการเสี่ยงเป็นซึมเศร้า จะสามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้ประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ และโดยปกติแล้วภาวะซึมเศร้าอาจไม่เกิดขึ้น หากไม่มีสิ่งกระตุ้น ก็คือสถานการณ์ในชีวิตที่เราพบเจอที่เป็นสถานการณ์ความเครียดหรือความกดดัน อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้า

     อาจารย์ อธิชาติ อธิบายว่า ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น ตั้งแต่ช่วงประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนต้น สิ่งที่ในวัยนี้ให้ความสนใจหรือให้ความสำคัญมากจะเป็นเรื่องรูปร่างลักษณะ ภาพลักษณ์ภายนอก เพราะฉะนั้นอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรูปลักษณ์ จะทำให้เขารู้สึกหนักใจเป็นพิเศษ อย่างเช่น การถูกล้อเลียนเรื่องรูปร่าง หรือการมองว่าตัวเองรูปร่างไม่เป็นพิมพ์นิยม เป็นต้น

     ส่วนในวัยรุ่นตอนปลาย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเตรียมตัวอย่างหนักเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา บางคนที่เรียนไม่เก่งหรือว่ารู้สึกว่าตนไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ อาจมีความรู้สึกสิ้นหวัง หรือการที่พ่อแม่กดดันเรื่องเรียน ก็อาจจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้า

     และในวัยอุดมศึกษา หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น การศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย จะเป็นช่วงเตรียมตัวเพื่ออนาคต เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะมีหวัง คนที่เข้ามาเรียนที่ไม่ใช่คณะที่ตนชอบหรือถนัดจะรู้สึกว่าเรียนไปแล้วมันยากมาก เกิดความเครียด หรือบรรยากาศการเรียนที่มีการแข่งขัน มีการคาดหวังกับตัวนักศึกษาสูง ก็สามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้

‘ซึมเศร้า’ เพราะความรักแบบมีเงื่อนไข

     บางทีมันก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่ความรักของผู้ปกครองอาจทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว อาจารย์อธิชาติ กล่าวว่า ความรักของผู้ปกครองมีสองแบบ คือ ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข หมายถึงรักเพราะลูกเป็นลูกของเรา ซึ่งการรักเด็กที่ตัวเด็ก รักที่ตัวตน จะสามารถป้องกันภาวะซึมเศร้าได้ แต่ความรักอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่าความรักแบบมีเงื่อนไข ก็คือลูกจะได้รับความรัก ความสนใจ ความห่วงใยก็ต่อเมื่อลูกประสบความสำเร็จ ลูกเรียนเก่ง ลูกหล่อสวย

     “การรักลูกแบบมีเงื่อนไข อาจส่งผลให้ลูกยึดติดและมีความเชื่อว่าจะต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้ก่อนถึงจะได้รับความรัก รู้สึกมีคุณค่า หากวันใดขาดคุณสมบัติดังกล่าวไป สอบตก เรียนไม่ดีขึ้นมา จะทำให้เขารู้สึกว่าตนไม่มีคุณค่าอีกต่อไป เพราะฉะนั้นก็พร้อมที่จะตายได้ถ้าเกรดตก พร้อมจะทำร้ายตัวเองได้ถ้าไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ปกครอง ซึ่งคนที่รักชีวิต ก็คือคนที่มองตัวเองว่ามีคุณค่า มีประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและต่อคนอื่น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เป็นพ่อแม่ หรือคนใกล้ชิด เราควรรักและให้คุณค่าเขาที่ตัวตนของเขา”

     อาจารย์ อธิชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพบคนใกล้ตัวมีภาวะซึมเศร้าเราควรรับฟังแล้วก็เข้าใจ ไม่ควรไปสั่งว่าอย่าร้องไห้นะ ให้แข็งแรงนะ หรือการไปตัดสินเขา อย่างเช่น การบอกว่าทำแบบนี้มันไม่ดี ไม่คิดถึงใจพ่อแม่บ้างเลย หรือการเฉไฉให้ไปเรื่องอื่น สิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงออกว่าไม่ยอมรับหรือรับฟังเขา

     “เราควรแสดงท่าทีที่ยอมรับว่าสิ่งที่เขารู้สึกเป็นความจริงที่มนุษย์ทุกคนสามารถที่จะเศร้าได้ ความเศร้าไม่ใช่เรื่องน่าอาย ให้เขารับรู้ว่าอย่างน้อยก็มีเราคนหนึ่งที่ยอมรับเขาได้ และบางครั้งเขาอาจถูกตัดสินจากตนเองและคนอื่นมามากพอแล้ว เขาต้องการใครสักคนที่ยอมรับเขา ไม่ตัดสิน ไม่ตำหนิ และไม่กลัวที่จะให้เขาแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเปิดเผย สุดท้ายคือการพาเขาไปหาคนที่สามารถช่วยเขาได้ เช่น จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ แต่หากเป็นกรณีที่เร่งด่วนที่พบว่าอาจมีอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่น เช่น การทำร้ายตัวเอง อันนี้ไม่ต้องรีรอให้รีบพาไปโรงพยาบาลก่อนเลย”