Loading...

ธรรมศาสตร์ เดินหน้าขับเคลื่อน ‘SDG 5’ ตามวิสัยทัศน์ มหา’ลัย สู่ ‘องค์กรส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับประกาศเกียรติคุณในฐานะองค์กรเครือข่ายตัวอย่างด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ในกิจกรรม Gender Fair 2023

วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ.2566

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับประกาศเกียรติคุณในฐานะองค์กรเครือข่ายตัวอย่างด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในกิจกรรมสานพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ : Gender Fair 2023 โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ UN Women ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 (SDG 5)

     กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับกรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว เปิดพื้นที่ให้ภาคีเครือข่ายร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นทางสังคม เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศใน “กิจกรรมสานพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ : Gender Fair 2023” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ณ ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

     โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 17 องค์กร ที่ได้รับประกาศเกียรติคุณในฐานะองค์กรเครือข่ายตัวอย่างด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ อันเนื่องมากจากวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมทางเพศ โดยเริ่มต้นจากประชาคมธรรมศาสตร์ให้เกิดความตระหนักและเข้าใจ พร้อมออกไปเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศให้เป็นระบบตามมาตรฐานสากล เพื่อสังคมไทยที่ผาสุก เท่าเทียม และยั่งยืน

     ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ตัวแทนนักศึกษาจากคัลเลอร์การ์ดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Colorguard) ยังได้ร่วมกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือ Flash Mob ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ เหล่า Creator จากแพลตฟอร์ม TikTok และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ภายใต้แนวคิด “Gender Equality for All” และตัวแทนนักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ร่วมเดินแบบกับ คุณสิรินยา บิชอพ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในแฟชั่นโชว์ชุด “I Just Dress Not Just a Fashion” เพื่อแสดงจุดยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ

     สำหรับกิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 “Achieve gender equality and empower all women and girls หรือการบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศในการส่งเสริมผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน” ซึ่งในปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้คว้าอันดับที่ 48 ของโลกในด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 (SDG 5 ) โดย THE IMPACT RANKINGS 2022 ด้วยนโยบายต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศในมหาวิทยาลัย อาทิ การส่งเสริมให้ผู้หญิง สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้มากขึ้น การส่งเสริมให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งทางวิชาการและผู้บริหารระดับสูง นอกจากนี้ ธรรมศาสตร์ ยังร่วมกับ UN Women ในการเปิดตัวโครงการยุติการคุกคามทางเพศอีกด้วย