Loading...

ทีมโต้วาทีธรรมศาสตร์ คว้าแชมป์ ‘โต้อุดม’ การแข่งขันโครงการโต้วาทีประเพณีอุดมศึกษาฯ ครั้งที่ 26

ร่วมแสดงความยินดีกับทีมโต้วาทีแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คว้าถ้วยพระราชทาน ในการแข่งขันโครงการโต้วาทีประเพณีอุดมศึกษาฯ ครั้งที่ 26

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2567

     ขอแสดงความยินดีกับ “ทีมโต้วาทีแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ประจำปีการศึกษา 2566 ที่ได้รับ รางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการแข่งขันโครงการโต้วาทีประเพณีอุดมศึกษาฯ ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 23 มกราคม - 24 กุมภาพันธ์ 2567 โดยกลุ่มอุดมศึกษาวาทศิลป์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     ในการแข่งขันทีมของธรรมศาสตร์มีนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขัน ดังนี้

     1. ณัฐชลิดา นาคงาม คณะศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 4
     2. ศึกษา สหุนาลุ คณะศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 4
     3. นันทสวัสดิ์ วงศ์เหรียญนิยม คณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4
     4. ธนภรณ์ กำเนิดกาญจน์ คณะเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 3
     5. ปิ่นปัก โชติกะพุกกณะ คณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 2
     6. นันท์นภัส พงศ์วิฑูรย์ คณะศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 2
     7. ณภัทร คงเมือง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้นปีที่ 2
     8. กันธา ด้วงอินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ชั้นปีที่ 2

     ทั้งนี้ ผู้เข้าแข่งขันในรายการมีด้วยกันทั้งสิ้น 6 ทีม คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง

     ชวนมาพูดคุยกับ ศึกษา สหุนาลุ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 หนึ่งในสมาชิกทีมโต้วาทีที่ได้รับรางวัล “นักโต้วาทีดีเด่น” ถึงความรู้สึกและประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันในครั้งนี้

ความรู้สึกที่ได้รางวัลชนะเลิศ

     ความรู้สึกแรกคือพวกเราดีใจมาก ๆ เพราะ “โต้อุดม” คือความฝันของนักโต้วาทีหลายคน แล้วก็เป็นเวทีที่มีประวัติยาวนานเวทีหนึ่ง พวกเราในฐานะนักโต้วาทีก็หวังว่าจะได้ขึ้นเวทีนี้สักครั้งในชีวิต ตอนแรกนึกว่าจะไม่มีโอกาสแล้วเพราะว่าห่างหายไปช่วงโควิดหลายปี ที่สำคัญพวกเราบางคนก็อยู่ปีสี่กันแล้ว แต่สุดท้ายกลุ่มอุดมฯ ก็กลับมาจัดจนได้

     ความรู้สึกต่อมาคือภูมิใจในตัวเอง เพื่อนร่วมทีมและผู้ที่อยู่เบื้องหลังทุกคน ที่ช่วยกันทำให้ทีมประสบความสำเร็จ เพราะพวกเราคือ “ทีมโต้วาทีแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ดังนั้น ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากพวกเราสี่คนที่ไปยืนบนเวทีในแต่ละรอบ แต่เป็นความสำเร็จที่ถ้าขาดใครคนใดคนหนึ่งไป เราก็อาจจะทำมันไม่ได้

 แชร์ประสบการณ์การแข่งขัน อะไรคือเทคนิคในการคว้าชัย

     ในช่วงการแข่งขัน เราจะได้ญัตติเป็นรายอาทิตย์ไป ภายในเวลาไม่ถึงอาทิตย์เราก็ต้องซ้อมพูด เตรียมข้อมูล เพื่อไปแข่งในทุกวันเสาร์ ช่วงที่แข่งขันเป็นช่วงเวลาที่เราต้องทุ่มเทให้กับมันมาก ๆ รู้สึกว่าใช้พลังงานชีวิตไปเยอะเหมือนกัน ระยะเวลาที่แข่งก็เดือนกว่า ๆ ถ้ารวมกับเวลาซ้อมก็หลายเดือน

     เทคนิคที่ทำให้เราชนะมาได้ ส่วนตัวมองว่าคือการทำงานกันเป็นทีมครับ อย่างที่บอกไปว่าเราไม่ได้ชนะได้ด้วยนักโต้สี่คนที่ขึ้นไปโต้ในแต่ละรอบ แต่ว่ากว่าจะมีสิ่งที่สี่คนนั้นออกไปนำเสนอได้ มันต้องผ่านขั้นตอน กระบวนการต่าง ๆ ของทีมโต้มาก่อน ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบเหมือนกันหมด และสุดท้ายความสำเร็จก็เลยเป็นความสำเร็จของทีม ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง

หัวใจของการ ‘โต้วาที’ คืออะไร?

     ผมคิดว่า หัวใจของการโต้วาทีคือ การคิดอย่างมีเหตุผลและการฟังครับ ในการโต้วาทีแต่ละครั้ง เราต้องเริ่มคิดแล้วว่าญัตตินี้กำลังตั้งคำถามอะไรกับเรา แล้วเราจะตอบอย่างไรให้ตรงประเด็น รวมไปถึงต้องคิดว่าจะพูดอย่างไรให้สมเหตุสมผล มีหลักฐานอ้างอิงสนับสนุนความน่าเชื่อถือของข้อมูล และต้องโน้มน้าวใจผู้ฟังให้ได้ว่าสิ่งที่เรากำลังพูดอยู่ “เป็นความจริง” ด้วยสิ่งที่เราได้นำเสนอไปทั้งหมด หลังจากนั้นเราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีครับ

     ดังนั้น ศาสตร์ในการโต้วาที จึงช่วยอย่างมากในการเรียนและการใช้ชีวิต เพราะจะทำให้เราคิดทุกครั้งก่อนทำอะไร แล้วก็เลือกพูดหรือนำเสนออกไปให้ตรงประเด็น อย่างเช่น การนำเสนอหน้าชั้นเรียน การทำรายงานต่าง ๆ ที่ต้องใช้กระบวนการคิดและการถ่ายทอดเนื้อหา นอกจากนี้ยังพัฒนาทักษะของการแสดงออกในที่สาธารณะด้วยครับ เราจะกล้าพูดกล้าคิดมากขึ้น ไม่ตื่นคน ไม่กลัวใคร ไปอยู่ที่ไหน รับรองว่าไม่ตายไมค์แน่นอน

ฝากทิ้งท้าย     

     อยากจะบอกทุกคนว่าอยากทำอะไรก็ทำเลยครับ ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมันเหมือนจะยาวนาน แต่ก็ผ่านไปเร็วเช่นกัน เมื่อวานยังเหมือนเข้าปีหนึ่งใหม่ ๆ แต่วันนี้กลายเป็นปีสี่ที่จะจบกันแล้ว บางคนก็ชิงจบไปก่อนแล้วเหมือนกัน

     แล้วถ้ายังไม่รู้ว่าจะทำกิจกรรมอะไร ชุมนุมปาฐกถาและโต้วาทีแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ชื่อย่อ ปาฐก อ่านว่า ปา-ถก ภาษาอังกฤษ Patok ก็เป็นปาฐก ไม่ใช้ปาต๊อก) ยินดีต้อนรับครับ ติดตามกิจกรรมของเราได้ที่เฟซบุ๊ก Patok TU หรืออินสตาแกรม Patok.tu

     และขอให้เสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นจงเบ่งบานตลอดไป