Loading...

ธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม ‘Upcycle’ เสื้อผ้ามือสอง เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างความยั่งยืนในชุมชน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือบริษัท ซิงเกอร์ฯ มอบจักรเย็บผ้าให้ชุมชน พร้อมจัดอบรมการใช้จักรเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่ายในชุมชน

วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ.2566

     เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานคณะกรรมการอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ร่วมกับบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมการอบรม Upcycle เสื้อผ้า เพิ่มรายได้ชุมชน นำเสื้อผ้ามือสองมาเพิ่มมูลค่าดัดแปลงเป็นสินค้าใหม่สร้างรายได้แก่ชุมชน โดยสินค้าดังกล่าวจะมีการติดแบรนด์ ‘สวนป๋วย’ ที่ตัวสินค้าเพื่อนำมาวางจำหน่ายที่อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะกลับคืนสู่ชุมชน

     ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานคณะกรรมการอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี กล่าวว่า เป้าหมายของเราคือทำให้ชุมชนที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยมีรายได้เพิ่ม วิธีการที่มีรายได้เพิ่มคือต้องมีงาน อีกวิธีหนึ่งคือลดรายจ่าย ซึ่งรายจ่ายของชุมชนส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของเสื้อผ้า ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเรามีเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่เป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเราสามารถสร้างทักษะ พร้อมกับมีอุปกรณ์อย่างจักรเย็บผ้าให้กับชุมชน ชุมชนก็สามารถนำเสื้อผ้าในตู้ที่ไม่ได้ใส่แล้วหรือเสื้อผ้ามือสอง มาตัดเย็บ ดัดแปลง เพิ่มลาย หรือดีไซน์เข้าไป เกิดการเอาเสื้อผ้ามาใช้ ลดรายจ่าย และถ้าสวยงามพอก็เป็นรายได้อีกหนึ่งทาง

     โครงการนี้จึงเรียกว่าเป็นโครงการ upcycle เสื้อผ้า โดย upcycle คือการนำสิ่งต่าง ๆ มาต่อยอดด้วยตัวเองให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และเกิดมูลค่าเพิ่ม โดยกิจกรรมครั้งนี้เป็นการอบรมการใช้จักรเย็บผ้าคุณภาพสูง พร้อมอบรมการดีไซน์ ตัดแต่งเสื้อผ้า เพื่อต่อยอดสู่การสร้างสรรค์เพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชมโดยรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งมอบจักรเย็บผ้าซิงเกอร์ Heavy duty รุ่น 4432 จำนวน 10 เครื่องให้กับชุมชนต่าง ๆ เพื่อยืมไปใช้เป็นระยะเวลา 1 ปี ภายใต้การดูแลของกรรมการชุมชนทั้ง 3 ชุมชน คือ ชุมชนคุ้งผ้าพับ ชุมชนศิริภาพ และชุมชนบ้านมั่นคงปทุมธานีโมเดล

     “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งช่วยเหลือชุมชนอย่างยั่งยืน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างงานให้กับชุมชน ซึ่งต้องมีการร่วมมือกันในทุกฝ่ายทั้งบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย และชุมชน อย่างกิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันนี้ โดยนอกจากจะสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนแล้ว ยังเป็นการให้บริการชุมชนในการนำจักรเย็บไปใช้สอยประโยชน์อื่น ๆ ได้อีกด้วย” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย