Loading...

‘การเมือง’ หลังเลือกตั้ง 66 การเปลี่ยนแปลงกับ ‘พลังสื่อโซเชียล’

ผลของการเลือกตั้งปี 66 สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายประการ โดยปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสื่อโซเชียลเข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้

วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2566

     ผลการเลือกตั้ง 66 ที่ผ่านมา ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงไปของภูมิทัศน์การเมืองไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยข้อมูลจาก กกต. พบว่ามีผู้เข้ามาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้กว่าร้อยละ 75 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนผู้ใช้สิทธิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา แสดงให้เห็นถึงความสนใจและความกระตือรือร้นของประชาชนในการออกมาใช้สิทธิของตนเองที่ไม่ใช่เพียงการทำตามหน้าที่ความเป็นพลเมืองที่ระบุในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เป็นการแสดงออกถึงความต้องการการเปลี่ยนแปลงผ่านการเข้าคูหาเลือกตั้ง

     ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘สื่อโซเชียล’ เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการรับรู้และมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งรวมไปถึงช่วงการหาเสียงของพรรคการเมือง เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยจุดกระแสการเลือกตั้ง และในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้เกมการเมืองเปลี่ยนไปจากวิถีเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ หรือภาพการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านแฮชแท็กทวิตเตอร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมถึงตอนนี้เองก็อาจกำลังมีกระแสเรื่องใหม่ ๆ เข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน

     ชวนทุกท่านมาพูดคุยกับ อาจารย์ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงภาพหลังการเลือกตั้ง และภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปกับอิทธิพลของสื่อโซเชียล

     อาจารย์ปุรวิชญ์ กล่าวว่า การที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุดเป็นประวัติกาลในครั้งนี้ กับผลลัพธ์ที่อาจสร้างความประหลาดใจให้กับหลาย ๆ คน อธิบายได้รูปแบบหนึ่งว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงผ่านการใช้สิทธิในคูหา ซึ่งนอกจากการออกมาใช้สิทธิแล้ว การเลือกตั้งที่ผ่านมายังปรากฏภาพที่ประชาชนช่วยกันไปสอดส่องการเปิดหีบนับคะแนนในแต่ละพื้นที่กันอย่างมากมาย แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจ และอยากเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยสื่อโซเชียลเองก็เข้ามามีบทบาทต่อการจุดกระแสความสนใจของมวลชน และเป็นพื้นที่ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

     “การเลือกตั้งในปี 2566 นับว่าเป็นครั้งที่ 2 จากปี 2562 ที่สื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาทต่อการเลือกตั้งอย่างมาก แต่ในครั้งนี้ที่แตกต่างคือ ไม่ใช่แค่การโพสต์หรือสร้างแฮชแท็กทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เพื่อแสดงออกทางความคิดและขับเคลื่อนทางการเมืองเท่านั้น แต่สื่อโซเชียลยังเป็นพื้นที่สร้างกระแสความนิยมให้พรรคหรือนักการเมือง” อาจารย์ปุรวิชญ์ กล่าว

     จากข้อมูลสถิติการใช้สื่อโซเชียลเก็บข้อมูลโดย DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภคของบริษัท Dataxet ในช่วง 16 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีการเข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ระหว่างพรรคการเมืองหรือผู้ลงสมัครกับประชาชนมากที่สุด โดยที่ TikTok มียอดการมีส่วนร่วมประมาณ 186 ล้านครั้ง รองลงมาเป็นเฟซบุ๊กอยู่ที่ 54 ล้านครั้ง และทวิตเตอร์ 45 ล้านครั้ง

     “จะชอบมีวลีที่บอกว่า กระแสหรือกระสุน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าเราดูผลการเลือกตั้ง เราอนุมานเบื้องต้นได้ว่ากระแสมีบทบาทค่อนข้างมาก TikTok สำหรับผมมันคือตัวเปลี่ยนเกม สิ่งที่มันเกิดขึ้นในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่เราพบเห็นใน TikTok คือการผลิตซ้ำคอนเทนต์จากการหาเสียงลงในแพลตฟอร์มอีกทอดหนึ่งไม่ว่าจะเป็นจากเวทีดีเบตก็ดี หรือจากการลงพื้นที่หาเสียง รวมไปถึงการสร้างคอนเทนท์ใหม่เพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองต่าง ๆ จนเกิดสิ่งที่เรียกว่าหัวคะแนนธรรมชาติขึ้นมา”

ปรากฏการณ์ ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ เกิดจากอะไร? 

     เมื่อเราพูดถึง ‘หัวคะแนน’ เราก็จะคุ้นชินว่าเป็นกลุ่มคนที่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครเลือกตั้งจัดตั้งขึ้นมาในเขตเลือกตั้งนั้นเพื่อทำหน้าที่หาคะแนนเสียงมาเลือกตัวเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2566 เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่เรียกว่า ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’

     กล่าวคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเป็นแฟนคลับพรรคการเมืองไหนก็ตาม ถ้าชอบพรรคนั้นก็จะมีการผลิตคอนเทนต์เองเพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลของตน อาจไม่ได้มีการบอกตรง ๆ ว่าสนับสนุนพรรคใด แต่จะใช้กิมมิค ใช้สี ใช้สัญลักษณ์อะไรบางอย่างแทน เช่น การสร้างกรอบรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กเพื่อใช้ร่วมกัน การตั้งชื่อแอคเคาท์ทวิตเตอร์เป็นอิโมจิสื่อถึงพรรค รวมไปถึงการทำคอนเทนท์สนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองลงใน TikTok เป็นต้น

     พอมีการผลิตคอนเทนต์ซ้ำไปมาจากผู้ใช้หรือประชาชนจำนวนมาก ก็กลายเป็นไวรัล กลายเป็นกระแส ทุกคนต่างทำ ถ้าไม่ทำจะรู้สึกตกเทรนด์ ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงนับได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการเลือกตั้งในประเทศไทยที่พรรคการเมืองต้องปรับตัว

สื่อโซเชียลมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยขนาดไหน?

     อาจารย์ปุรวิชญ์ แสดงความคิดเห็นว่า สื่อโซเชียลช่วยให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เพราะตอนนี้ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้หมด ต้องการเรียกร้องเรื่องอะไรก็พิมพ์ลงโซเชียล และไม่ใช่แค่ปี 2566 ย้อนไป 4 ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลานั้นเองสื่อโซเชียลก็เข้ามามีบทบาท โดยจะเห็นว่าประชาชนมีความคาดหวังต่อการเมืองสูงมาก แต่ในขณะเดียวกันการเมืองในสภากลับยังไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังที่มันพุ่งไปไกลด้วยความเร็วอย่างในพื้นที่โซเชียลได้ทันท่วงที

     ภาวะความเหลื่อมตรงนี้เองที่ทำให้พรรคการเมือง นักการเมืองในสภา หรือ ส.ส. หากคาดหวังถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไปในอนาคตก็ต้องปรับตัวให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นแฮชแท็ก ‘เอานู่น…ไม่เอานี่’ มันคือการที่ประชาชนส่งเสียงร้องว่าต้องการอะไรและไม่ต้องการอะไร นำไปสู่ ‘วัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่’ ที่ไม่เหมือนสมัยก่อน

     “ปกติเมื่อก่อนพอเลือกตั้งไป พอ ส.ส. หรือรัฐมนตรีทำงานไม่ดี ก็ใช้กลไกตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ พากันลงชื่อถอดถอน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องลงชื่อ ไม่ต้องถอดถอน แต่เคลื่อนไหวกันผ่านโลกโซเชียล ทำแคมเปญใน change.org แทนเพื่อให้เกิดกระแส แล้วกระแสมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย มันย่อมมีผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมที่ทำให้ตัวแสดงที่อยู่ในสนามการเมืองต้องปรับตัว” อาจารย์ปุรวิชญ์ กล่าว

บทสรุป... เหรียญอีกด้านของสื่อโซเชียลกับการเมือง

     แน่นอนว่าในด้านบวก สื่อโซเชียลช่วยสร้างกระแส ช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากออกไปเลือกตั้ง แต่อีกด้านหนึ่งที่เราต้องตระหนัก คือเรื่องข่าวปลอม ข่าวลวง ข่าวบิดเบือน

     อาจารย์ปุรวิชญ์ ให้ภาพตัวอย่างว่า เมื่อปีที่แล้วที่ประเทศฟิลิปปินส์มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี สื่อโซเชียลมีบทบาทอย่างมากในการเป็นตัวแปรที่กำหนดการแข่งขันการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งในการเลือกตั้งของประเทศฟิลิปปินส์ก็เกิดปรากฏการณ์ที่สร้างความฮือฮาคือการมีข่าวลือ ข่าวปลอมเต็มไปหมด เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่า สื่อโซเชียลนั้นมีทั้งด้านบวกและด้านที่ต้องระแวดระวัง ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ประเทศไทยหรือประเทศฟิลิปปินส์ แต่มันคือปรากฏการณ์ที่ทั้งโลกต้องประสบเช่นเดียวกัน

     “เรื่องการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย มันก็เป็นเหรียญสองด้าน เราต้องเลือกใช้อย่างระมัดระวัง เลือกใช้อย่างเกิดประโยชน์ แล้วมันก็จะเกิดประโยชน์กับตัวเราเองและเกิดประโยชน์กับสังคมในท้ายที่สุด” อาจารย์ปุรวิชญ์ กล่าวทิ้งท้าย