Loading...

โรคมะเร็งอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก รู้ทัน "มะเร็งเต้านม" ก่อนลุกลาม

ปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก “โรคมะเร็งเต้านม” อุบัติการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี แนะตรวจคัดกรองเป็นประจำ

วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2566

     “มะเร็งเต้านม” ปัญหาใหญ่สำคัญทางสุขภาพของผู้หญิง และเป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศทั่วโลกอย่าง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.3 ล้านคน เสียชีวิตราว 685,000 คนต่อปี ส่วนในประเทศไทย จากข้อมูลในปี 2563 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 18,000 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมราว 4,800 คน ทั้งยังมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 22,000 คนต่อปี

     ปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องของอายุ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงอย่างปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ถ้าเรามีประวัติครอบครัวญาติโดยเฉพาะญาติฝ่ายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะเป็นตอนอายุน้อย ๆ หรือว่าเป็นหลายคน เราควรต้องมีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เร็วขึ้น เพราะอาจมีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม

     นอกจากนี้ อาจจะเป็นเรื่องของการได้รับรังสีรักษาบริเวณหน้าอกโดยเฉพาะในวัยเด็ก เช่น เด็กบางคนได้รับรังสีรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในวัยเด็ก เพราะฉะนั้นเซลล์บริเวณหน้าอก หรือเต้านม มีโอกาสเปลี่ยนแปลงเจริญผิดปกติเป็นมะเร็งเต้านมได้ในเวลาต่อมา รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารไขมันสูง การไม่ออกกำลังกาย และดื่มสุรา

     รศ.พญ.วิไลรัตน์ โตวิริยะเวช ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เน้นย้ำว่า “ผู้หญิงทุกคนที่อายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจเต้านมเป็นประจำ และปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เพราะการศึกษาพบว่ามะเร็งเต้านมจะมีอุบัติการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี”

เช็กอาการที่น่าสงสัยได้ด้วยตนเอง

     เราสามารถตรวจเช็กได้ด้วยตนเอง คือ คลำได้ก้อนโดยเฉพาะก้อนที่มีลักษณะแข็งในเต้านม ซึ่งอาจจะไม่เคยคลำได้มาก่อน ผิวหนังบริเวณเต้านมมีรอยบุ๋ม มีแผล หรือว่ามีลักษณะบวมแดง ผิวหนังคล้ายเปลือกส้ม หรือมีอาการอื่นใดที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น เต้านมมีรูปทรงที่ผิดรูป เต้านมใหญ่กว่าอีกข้าง หรือคลำได้ก้อนที่รักแร้ โดยอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือน ควรมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

ผู้หญิงทุกคนควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

     แม้ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่ทุกคนก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมีอยู่ 3 อย่าง คือ 1.) วิธีที่ง่ายที่สุดและทำได้ทุกคนที่บ้านคือ การเฝ้าติดตามอาการตนเองที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละครั้ง ผู้หญิงแค่อายุ 20 ปีขึ้นไปก็ควรจะต้องมีการเรียนรู้การตรวจเต้านมที่ถูกต้อง ช่วงเวลาที่เหมาะสมก็คือช่วงประมาณ 7-10 วันหลังจากที่หมดประจำเดือนแล้ว ช่วงเวลานั้นเต้านมจะไม่ค่อยคัดตึง เราก็สามารถตรวจเต้านมได้ง่าย

     2.) การพบแพทย์หรือว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมในการตรวจเต้านม ในผู้หญิงที่อายุเกิน 40 ปี ควรจะต้องมีการตรวจเต้านมโดยแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง หรืออายุน้อยกว่านั้นหากมีอาการ ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์ และ 3.) วิธีที่มีความแม่นยำ และมีการศึกษาพบว่าช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมด้วย คือการตรวจด้วยแมมโมแกรม (Mammogram) และอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound)

     “คือแน่นอนมันไม่สามารถป้องกันได้แต่ว่าถ้าเราสามารถตรวจคัดกรองในระยะเริ่มแรกก็จะมีโอกาสหายขาดที่มากขึ้น การรักษาต่าง ๆ ก็อาจจะซับซ้อนน้อยลง” รศ.พญ.วิไลรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย