Loading...

เปิดแนวคิดเบื้องหลัง ‘สาธิต มธ.’ กับการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้-พื้นที่ความสุขและมีความหมายสำหรับทุกคน

ชวนมาพูดคุยเพื่อเข้าใจแนวคิดเบื้องหลังโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับการพยายามแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาไทย

วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2567

     ‘โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2557 ภายใต้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่ได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาด้านระบบการศึกษา จึงมีการก่อตั้งโรงเรียนสาธิต มธ. ขึ้น ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างโรงเรียนที่เป็นต้นแบบของหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้ความสำคัญกับผู้เรียนมากขึ้น และสามารถสร้างเยาวชนที่มีศักยภาพ เติบโตอย่างเข้าใจตนเองและผู้อื่นบนการยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย

     อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า การศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้เอื้อให้ผู้เรียนได้ค้นหาและเข้าใจศักยภาพของตัวเองว่ามีความชอบด้านไหน ถนัดอะไร ทำให้เราพบเด็กจำนวนมากที่เมื่อเรียนจบแล้ว ไม่รู้ว่าตนจะไปทางไหนต่อ โรงเรียนสาธิต มธ. จึงพยายามแก้โจทย์นี้ ด้วยการสร้างพื้นที่ให้ผู้เรียนได้สำรวจและค้นหาตัวเอง โดยเน้นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ผู้เรียนจะมีพื้นที่ให้ได้แลกเปลี่ยนกัน ได้บอก ได้สื่อสารกับครู

     ด้านหลักสูตรของโรงเรียนสาธิต มธ. อ.อธิษฐาน์ เล่าว่า หลักสูตรในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะเน้น ‘ความหลากหลาย’ ในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นช่วงการเรียนที่จะได้ค้นหาความชอบในทุกด้าน ทั้งด้านศิลปะ สังคม วิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ พอเริ่มเห็นแนวทางความชอบของตัวเองว่าเป็นลักษณะไหน ศึกษาต่อด้านใด หลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจึงเป็นการ ‘เน้นลงลึก’ คือได้เลือกเรียนวิชาที่สนใจ ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความชำนาญในศาสตร์นั้น ๆ เฉพาะทางมาเป็นผู้สอน

     เวลาที่เด็กเลือกเรียนสิ่งที่อยากเรียน เขาจะมีความสนใจ พยายามแสวงหาความรู้ มากกว่าการเรียนจากสิ่งที่ผู้สอนป้อนให้ ทำให้ผู้เรียนที่จบจากที่นี่ เกือบทุกคนออกไปศึกษาหรือไปพัฒนาตัวเองต่อในศาสตร์ที่สนใจอย่างแท้จริง

     อ.อธิษฐาน์ กล่าวอีกว่า ทุกคนเห็นตรงกันหมด ทั้งผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร คืออยากเห็นพื้นที่โรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ที่ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึง การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ต่อตนเอง และที่สำคัญคือต้องเป็นพื้นที่ ‘ปลอดภัย’ คำว่าปลอดภัยไม่ใช่แค่มีสถานที่ที่ดี การมีระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องมี แต่เป็นความปลอดภัยทั้งในอารมณ์ความรู้สึก เป็นพื้นที่ที่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เสียงของเขาได้รับการรับฟัง

          ‘การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่มีความสุขและมีความหมายของคนทุกคน...’

          รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ของคนทุกคนบนความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งคนทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้ปกครอง หรือผู้บริหารเองก็ต้องมีแนวคิดที่สอดคล้องกันในการสร้างพื้นดังกล่าว

     ปัญหาของระบบการศึกษาในไทยมีความซับซ้อน หลากหลายมิติ

     รศ.ดร.อนุชาติ อธิบายว่า ข้อแรกที่สำคัญของปัญหาระบบการศึกษาไทยคือเรามักไม่ตั้งเป้าหมายของการศึกษาที่ชัดเจนว่าจะสถานศึกษาจะผลิตบุคลากร หรือนักเรียนให้มีคุณลักษณะอย่างไร ความสามารถแบบไหน มีสมรรถนะอะไรบ้าง ซึ่งโรงเรียนสาธิต มธ. ได้มีการกำหนดสมรรถนะหลักของผู้เรียนหลายด้าน เช่น ต้องมีความเป็นผู้นำ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ โดยเป้าหมายหลักคือผู้เรียนที่เรียนจบจากโรงเรียนสาธิต มธ. จะต้องสามารถอยู่ในโลกปัจจุบันให้ได้ และเป็นบุคลากรที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป

     ปัญหาข้อที่สองคือองคาพยพของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาถูกฉีกขาดแยกออกจากกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้ไม่เอื้อต่อการมีระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีระบบและมีความหมาย ความร่วมมือที่ดีคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เราต้องทำให้บ้านและโรงเรียนมีการสื่อสาร เห็นเป้าหมายร่วมกัน และทำงานร่วมกัน

     และปัญหาข้อที่สามคือเรื่องหลักสูตร ที่มักจะเน้นวิชาการ การเรียนแบบไม่สมดุล มุ่งเน้นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะไม่ใช่หลักสูตรที่ดีที่สุดสำหรับเด็กยุคปัจจุบันอีกต่อไป เนื่องด้วยวิธีการเรียนรู้ของเด็กที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นโรงเรียนสาธิต มธ. จึงตั้งใจเริ่มต้นใหม่ โดยมีการยกร่างหลักสูตร ปรับกระบวนการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับยุคสมัยและวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน

     “นอกจากหลักสูตรที่ดีแล้ว วิธีการจัดการเรียนการสอนก็ต้องดีด้วย และที่สำคัญคือการออกแบบวิธีการประเมินผู้เรียน ที่เน้นเรื่องสมรรถนะของตัวผู้เรียนมากกว่าการแข่งขันกับผู้อื่น โดยจะทำให้ความกดดัน ความเครียดในการเรียนลดลง สร้างความร่วมมือระหว่างผู้เรียนมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.อนุชาติ กล่าวเพิ่มเติม

     กว่า 8 ปี ของการก่อตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากความพยายามสร้างความแตกต่างให้กับระบบการศึกษาไทย ผ่านอุปสรรคหลายรูปแบบ จนได้รับรางวัลที่การันตีถึงความสำเร็จของการดำเนินงาน โดยโรงเรียนสาธิต มธ. ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล “Outstanding Laboratory School Award” (โรงเรียนสาธิตยอดเยี่ยม) จากสมาคมโรงเรียนสาธิตนานาชาติ The International Association of Laboratory Schools (IALS) สหรัฐอเมริกา ซึ่งสาธิต มธ. เป็นโรงเรียนสาธิตแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับรางวัลนี้