Loading...

คณะวิทย์ฯ ธรรมศาสตร์ ร่วมมือ ‘ไทยรับประกันภัยต่อ’ ผลิตบัณฑิตวิทยาการประกันภัย ตอบโจทย์ภาคเอกชน

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามความร่วมมือ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตบัณฑิตวิทยาการประกันภัย

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2567

     เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) ลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อร่วมกันผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ภาคเอกชน สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันที ทันต่อสถานการณ์โลก โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณวิชัย เจาชัยเจริญกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบริหารและพัฒนาทุนมนุษย์และบริหารสำนักงาน เป็นผู้ลงนามฯ ครั้งนี้

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งในฐานะสถาบันการศึกษา ที่เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ได้มีความรู้ และความเข้าใจในสิ่งที่ตนสนใจ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับประกันวินาศภัย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และมักพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน โดยวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการจัดทำบันทึกความร่วมมือนี้ คือการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ฝึกงาน และการปฏิบัติงานแบบสหกิจศึกษา รวมไปถึงการคัดเลือกบัณฑิตที่จบการศึกษาเพื่อเข้าปฏิบัติงานกับบริษัท

     เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ทักษะความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาประยุกต์ใช้ในโลกของการทำงานจริงและได้มีโอกาสในการปฏิบัติงานกับทางบริษัทต่อไป อีกทั้งยังมีการจัดอบรมหรือบรรยายเกี่ยวกับธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษารวมถึงเพื่อประโยชน์ของบริษัท และบริษัทในเครือ ต่อไป

     “เพื่อประโยชน์ด้านวิชาการ และสั่งสมประสบการณ์ ความร่วมมือกันระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ บริษัท ไทยรับประกัยภัยต่อ จำกัด (มหาชน) จะช่วยพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปขยายผลต่อยอดและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในอนาคต เพื่อมหาวิทยาลัย บริษัท ฯ และประเทศชาติต่อไป”

     รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวความเป็นมาระหว่างความร่วมมือครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาบริษัทส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตบัณฑิตวิทยาการประกันภัยในรูปของการให้บุคลากรของบริษัทเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นกรรมการร่วมตัดสินและให้ข้อเสนอแนะผลงานวิจัยของนักศึกษา ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการรับนักศึกษาฝึกงานเพื่อฝึกทักษะและหาประสบการณ์เชิงวิชาชีพ เพื่อให้ความร่วมมือเป็นไปอย่างเข้มแข็งและก่อประโยชน์แก่นักศึกษาเต็มที่ จึงได้มีพิธีลงนามความร่วมมือขึ้น

     ด้าน คุณวิชัย เจาชัยเจริญกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบริหารและพัฒนาทุนมนุษย์และบริหารสำนักงานบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทรับนักศึกษาฝึกงานมาโดยตลอด ในการนี้เพื่อเพิ่มความร่วมมือที่จะช่วยผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะลงนามความร่วมมือกัน และช่วยกันพัฒนานักศึกษาต่อไป ความร่วมมือเช่นนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนและเตรียมความพร้อมแก่นักศึกษา

     นอกจากนี้ ยังมีการเล่าถึงประสบการณ์การรับนักศึกษาฝึกงานจากตัวแทนบริษัทที่มาเข้าร่วม ได้แก่ คุณสุจิตรา เศวตบวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่าย Reserve Capital คุณศิวพร ผึ่งผาย ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ คุณวศิน ประเวศโชตินันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย คุณกานต์ปณัช พุทธรักษา HR Business Partner

          โดยนักศึกษาจากหลักสูตรสถิติและประกันภัยจะมีพื้นฐานการเรียนที่สามารถฝึกงานได้ และได้โอกาสที่จะมีประสบการณ์จริงจากการฝึก แล้วก็สามารถนำไปสู่การมีโอกาสได้ทำงานที่ตรงกับความต้องการของบริษัทมากขึ้น

          ในงานยังได้มีการพูดคุยถึงแนวทางหลักสูตรฉบับปรับปรุง โดย รศ.ดร.กมล บุษบา ผู้อำนวยการโครงการปริญญาตรีภาคพิเศษ หลักสูตรวิทยาการประกันภัย ได้กล่าวถึงหลักสูตรใหม่ที่นักศึกษาจะจบภายในสามปี และมีโอกาสได้เริ่มฝึกงานตั้งแต่ปีสอง รวมถึงการพูดคุยถึงการปูพื้นนักศึกษาในด้านการตั้งเงินสำรองประกันภัยและเงินสำรองของบริษัท การขยายความรู้ไปทางด้านการลงทุน มาตรฐานทางการเงิน และเตรียมนักศึกษาให้มีพื้นความรู้ทางด้านการบัญชีการเงิน ให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนบัญชีประกันภัยซึ่งเป็นความรู้สำคัญทางด้านการสำรองประกันภัย

          ความร่วมมือดังกล่าวนี้ จะนำไปสู่การเตรียมนักศึกษาให้สามารถทำแผนผ่านมุมมองด้านการสำรองประกันภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป รวมทั้งเสริมนักศึกษาด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้าน data science ด้านการเขียนโปรแกรม และเน้นให้นักศึกษาทำโปรเจกต์ภายใต้การรับโจทย์จากภาคเอกชน