Loading...

เคาะการทำงานแบบราชการให้ทันยุค ‘ธรรมศาสตร์’ เริ่ม ‘Work from everywhere’ ขับเคลื่อนองค์กรด้วยความสุขของพนักงาน

ปัจจุบันโลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด คนที่อยู่รอดคือคนที่สามารถปรับตัวและไล่ตามความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกได้ทันท่วงที

วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ.2566

     ปัจจุบันโลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมมาอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของผู้คน เทคโนโลยีกลายมาเป็นเครื่องทุ่นแรงที่ในบางครั้งอาจทำงานได้ดีและแม่นยำกว่ามนุษย์ ทำให้รูปแบบการทำงานแห่งอนาคตในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คนที่อยู่รอดคือคนที่สามารถปรับตัวและไล่ตามความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกได้ทันท่วงที

     ความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอ ไม่ว่าคุณจะรู้เยอะ รู้ลึกขนาดไหน ก็อาจสู้ความฉลาดของเทคโนโลยีที่มีข้อมูลจำนวนมากไหลเวียนอยู่นี้ได้ยาก ต้องมีความรู้ควบคู่ไปกับทักษะแห่งอนาคตด้วย ดังนั้นองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนหากอยากก้าวตามให้ทันก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีเดิมให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับวิถีใหม่ ‘การลงทุนในคน’ จะกลายเป็นเรื่องหลักที่สำคัญในการพัฒนากำลังคนขององค์กร

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ ยังคงโครงสร้างของระบบราชการในการทำงาน ซึ่งกรอบของความเป็นราชการนี้เองสวนทางกับรูปแบบการทำงานในอนาคต แต่การเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบทำให้ธรรมศาสตร์มีพื้นที่ในการปรับเปลี่ยนให้การทำงานขององค์กรสอดคล้องเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

     ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พนักงานคือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัย ดังนั้นหากเราไม่ปรับรูปแบบการทำงานให้เท่าทันกับโลก เราก็จะตามไม่ทันมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น ๆ และอาจไปไม่ถึงเป้าหมายในการเป็น ‘มหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชน’

     เราจึงต้อง ‘ลงทุนในคน’ สร้างรูปแบบการทำงานที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงด้านเทคโนโลยี และที่สำคัญต้องทำให้องค์กรสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ เติบโตและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้

     “ทุกวันนี้คนทำงานอาจไม่ได้มีความผูกพันกับองค์กรเหมือนเมื่อก่อน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หลายคนเลือกทำงานในที่ที่ตนจะได้รับสวัสดิการที่ดี อยู่แล้วมีความสุข รวมถึงได้เติมเต็มและพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ดังนั้นถ้าเจอที่ทำงานที่รู้สึกไม่ใช้ที่ทางของเขา ก็ลาออกได้ง่าย ๆ จึงเป็นโจทย์ของทุกองค์กรที่ต้องให้ความสำคัญ” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว

     ความสุขของพนักงานจึงเป็นหัวใจหลัก เพราะหากยังยึดรูปแบบงานเก่าที่สนใจปริมาณของงานมากกว่าความเป็นอยู่ของคน หรือไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเองของบุคลากร องค์กรก็จะไม่สามารถรักษาพนักงานที่มีศักยภาพไว้ได้ รวมไปถึงพนักงานที่มีอยู่เอง หากยังอยู่ในวังวนเดิม ๆ ของการทำงานก็อาจทำให้ไม่ได้รู้สึกอยากทำงานหรือพัฒนาตนเองเพื่อองค์กรขนาดนั้น

     ‘ธรรมศาสตร์’ ได้มีความพยายามปรับรูปแบบการทำงานตามนโยบายการสร้างกำลังคนแห่งอนาคต (Future Workforce) และการพัฒนาที่ทำงานแห่งอนาคต (Future Workplace) ตัวอย่างโครงการที่ ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ พูดถึงคือ ‘TU Work from everywhere’ หรือการเพิ่มความยืดหยุ่นการทำงานโดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน

     การ Work from home ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่เอกชนหลายแห่งทำอยู่ แต่ก็เป็นความท้าทายของธรรมศาสตร์ที่ยังคงใช้รูปแบบการทำงานราชการ ในการออกแบบระบบให้คนทำงานรูปแบบเก่าที่ยังยึดติดกับตู้เก็บเอกสาร สามารถปรับการทำงานโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานมากยิ่งขึ้นได้

     “ตอนนี้เราทำ pilot ของโครงการไปได้ 6 เดือนแล้ว กับ 3 หน่วยงานใน มธ. ซึ่งผลที่ออกมาถือว่าเป็นบทเรียน ทั้งความล้มเหลว ความสำเร็จและความเปลี่ยนแปลงที่ทางมหาวิทยาลัยต้องไปปรับปรุงแก้ไขระบบให้นำไปใช้งานได้จริง มีระเบียบเกณฑ์กลาง ข้อกำหนดที่นำไปใช้กับหน่วยงานอื่น ๆ ในธรรมศาสตร์ ให้สามารถทำงานได้ทุกที่โดยประสิทธิภาพของการทำงานไม่ลดลง” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ระบุ

     หากเราสามารถเปลี่ยนโครงสร้างระบบ และปรับวิถีการทำงานที่เคยชินแบบเดิมได้ การทำงานที่มีความยืดหยุ่นนี้เองก็จะทำให้คนทำงานมีความสุขมากขึ้น คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นตามไปด้วย

     นอกจากนี้ ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ แง้มว่า ‘เงินบำนาญ’ เป็นอีกเรื่องที่อยากผลักดันที่ธรรมศาสตร์ เพราะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต ต้องมีค่าใช้จ่ายยามเกษียณตามมา ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ สุขภาพ หากมีหนทางจัดสรรเงินและช่วยให้พนักงานสามารถมีเงินบำนาญได้ทุกคน ธรรมศาสตร์ก็อยากริเริ่มเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงนี้ให้กับบุคลากร

     กว่า 90 ปี กับการสถาปนามหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทย สิ่งที่ธรรมศาสตร์พูดและแสดงออกมาเสมอในทุกยุคทุกสมัยคือการเป็น ‘มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน’ ฝัง DNA การคิดถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง

     “เราบอกว่าเราเป็น มหา’ลัยเพื่อประชาชน บุคลากรทุกคนในรั้วธรรมศาสตร์ก็คือประชาชน ดังนั้นธรรมศาสตร์ทำเพื่อประชาชน ก็ต้องทำเพื่อบุคลากรด้วย” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ทิ้งท้าย