Loading...

ธรรมศาสตร์ นำผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ศึกษาดูงานศูนย์บริการนักศึกษาพิการ (DSS Center)

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้อนรับคณะผู้อบรมหลักสูตรการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษาฯ ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2566

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย รศ.โรจน์ คุณเอนก รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ให้การต้อนรับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษา (หลักสูตรผู้บริหาร) ในการเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ (DSS Center) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ในเรื่องการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาพิการในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น Best Practice ด้านการบริหารจัดการ และการจัดบริการทางด้านการศึกษาแก่นักศึกษาพิการ โดยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกที่ก่อตั้ง ‘โครงการนักศึกษาพิการ’ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และผลิตบัณฑิตที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน

     ช่วงแรกของการศึกษาดูงานมีการอภิปรายเรื่อง การส่งเสริมการศึกษาสำหรับคนพิการและการบริหารจัดการ โดย รศ.โรจน์ คุณเอนก รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา

     รศ.โรจน์ คุณเอนก รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเจตจำนงค์ในการช่วยเหลือประชาชน เรามีโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการนักศึกษาพิการ โดยปัจจุบันจากข้อมูลจะเห็นว่ามีคนพิการจำนวนมากถูกขับออกจากระบบการศึกษา มีจำนวนน้อยที่สามารถเข้ามาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งธรรมศาสตร์เล็งเห็นความสำคัญและพยายามยื่นมือเข้าไปดึงคนเหล่านี้ให้กลับเข้าสู่การศึกษาภาคปกติ เป็นภารกิจสำคัญของทุกมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     “คนพิการคือบุคคลที่มีศักยภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป โจทย์คือทำอย่างไรจะสามารถผลักดันศักยภาพเหล่านั้นออกมา หากเขาได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมก็สามารถมีสิทธิ มีโอกาสความก้าวหน้าทางด้านต่าง ๆ บนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันกับคนอื่น ๆ ได้ โดยหลักการสำคัญของการสนับสนุนการศึกษาของคนพิการ คือการให้อย่างสมเหตุสมผล ไม่ให้เขารู้สึกแปลกแยก แต่ต้องรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสังคม” รศ.โรจน์ กล่าว

     รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า การดำเนินการให้มีศูนย์บริการนักศึกษาพิการ (disability support service center) เป็นเรื่องที่อยากให้เกิดขึ้นในทุกมหาวิทยาลัย ให้การบริการด้านการศึกษาของทั้งนักศึกษาพิการและไม่พิการเป็นกิจกรรมหลักของการพัฒนากำลังคน เราต้องเปลี่ยน disability ให้เป็น ability ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาต่อไป

     ผศ.ดร.เบญจา ชลธาร์นนท์ คณะกรรมการหลักสูตรฯ กล่าวว่า ปลายทางของการพัฒนาสนับสนุนด้านการศึกษาของคนพิการ คือการทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้ในสังคม หรือการเป็น Independent living ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทุกคนในสังคมควรได้รับ และเป็นเป้าหมายสูงสุดของคนทุกกลุ่มไม่ใช่แค่คนพิการ

     “เราต้องทำให้มหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่เรียนรู้พร้อมทั้งฝึกให้เขาพร้อมออกไปสู่สังคม โดยที่สามารถพึ่งพาตัวเอง เป็นอิสระในตัวของตัวเอง ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันที่พยายามทำเรื่องนี้มาตลอด เป็นภาพต้นแบบที่บอกว่ามหาวิทยาลัยอื่นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เราสามารถเป็นชุมชนที่สนับสนุนซึ่งกันและกันได้ในด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษา” ผศ.ดร.เบญจา กล่าว

     หลังจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานทางด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ ได้มีการพาคณะผู้บริหารเข้าชม ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ (DSS Center) ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์