Loading...

วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ พัฒนา “อุปกรณ์ช่วยกายภาพบำบัดแขน” คว้ารางวัล I-New Gen Award 2021

นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์กายภาพแขนผ่านกลไกสะท้อนแบบสมมาตร ต่อยอดพัฒนาเกมสำหรับการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2565

     “การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์กายภาพแขนผ่านกลไกสะท้อนแบบสมมาตร” โดย น.ส.ธันยพร วงศ์วัชรานนท์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมทางการแพทย์ และนายเมธาสิทธิ์ เกียรติ์ชัยภา บัณฑิตระดับปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองและรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับอุดมศึกษา ในกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ จากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ( I-New Gen Award) ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 -2565 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ภายในประเทศ จัดโดย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช.

     น.ส.ธันยพร วงศ์วัชรานนท์ กล่าวว่า เริ่มจากเราอยากพัฒนาอุปกรณ์สำหรับการกายภาพบำบัดให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้ดียิ่งขึ้น และเราเห็นถึงปัญหาและข้อจำกัดของอุปกรณ์การฝึกแขนในปัจจุบัน อีกปัญหาหนึ่งที่พบคือในขณะที่ผู้ป่วยกายภาพบำบัดอยู่เราไม่สามารถรู้ว่าผู้ป่วยออกแรงจริงหรือไม่ พฤติกรรมการออกแรงเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาในกระบวนการฝึก ที่ไม่สามารถรู้ประสิทธิภาพการฝึกได้ ทำให้ผู้ป่วยและนักกายภาพไม่สามารถรู้พัฒนาการการฝึกได้อย่างชัดเจน หากเป็นอุปกรณ์ของต่างประเทศก็มีเพียงไม่กี่โรงพยาบาลที่มี ส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ใหญ่ เนื่องด้วยอุปกรณ์เหล่านี้เป็นระบบมอเตอร์คอนโทรล ต้นทุนการผลิตก็สูงทำให้ราคาขายยิ่งสูงขึ้น รวมถึงการจะใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ใช้ระยะเวลาในการตั้งค่ากับผู้ป่วยค่อนข้างนาน ทำให้ประสิทธิภาพและระยะเวลาต่อการฝึกต่อครั้งลดลง

     จึงเป็นที่มาของ Concept การใช้กลไกในการส่งผ่านแรงของแขนข้างที่ดีไปสู่แขนข้างที่อ่อนแรง บวกกับระบบชดเชยแรงโน้มถ่วง ทำให้แขนข้างที่ดีเปรียบเสมือน Power Assist คอยพาแขนข้างที่อ่อนแรงขยับ ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายท่าทางด้วยการออกแบบอุปกรณ์ให้มี 3 Degree of Freedom ครอบคลุมท่าทางการเคลื่อนไหว

     นายเมธาสิทธิ์ เกียรติ์ชัยภา กล่าวเสริมว่า ได้มีการนำอุปกรณ์ไปทดสอบการใช้งานในกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดี และกำลังดำเนินการเก็บวิจัยในกลุ่มผู้ป่วย โดยได้ทำการศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลงภายหลังการฝึกด้วยอุปกรณ์ดังกล่าวในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเรื้อรังจำนวน 18 คน โดยทุกคนจะได้รับการฝึกกับอุปกรณ์ด้วยโปรแกรมที่กำหนด 3 วัน ต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2 เดือน ทำการศึกษา ณ ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟู บึงยี่โถ ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี  

     “ปัจจุบันเราได้วางแผนต่อยอดด้านการปรับปรุงและพัฒนาตัวต้นแบบต่อไป ภายหลังจากการใช้งานจริงในกลุ่มผู้ป่วย เพื่อให้มีความเหมาะสมและสมบูรณ์แบบ เหมาะกับการนำไปใช้งานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังอยู่ในช่วงพัฒนาเกมสำหรับการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ เพื่อสร้างแรงจูงใจ และเพิ่มความสนุกสนานในการฝึกให้กับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ในอนาคตเราอยากจะผลักดันอุปกรณ์ดังกล่าวให้สามารถกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะตามชุมชน ให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงอุปกรณ์ ได้เพิ่มโอกาสในการได้รับการฟื้นฟูที่ดีและมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสการเกิดความพิการได้มากขึ้น” น.ส.ธันยพร กล่าวทิ้งท้าย

     “การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์กายภาพแขนผ่านกลไกสะท้อนแบบสมมาตร” ยังได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 8 ทีม ของประเทศไทย ไปร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุระดับนานาชาติ ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2022 ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 26-29 สิงหาคม 2565 อีกด้วย