Loading...

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจังหวัดปทุมธานี ร่วมกันจัดงาน ‘อัตลักษณ์แห่งศิลป์ ณ ถิ่นเมืองปทุมฯ’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมจัดงานอัตลักษณ์แห่งศิลป์ ณ ถิ่นเมืองปทุมฯ ในแนวคิด Color of Pathum สีสันแห่งปทุมธานี นำเสนอความอุดมสมบูรณ์และอัตลักษณ์

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2567

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยมหาวิทยาลัย โรงเรียน และชุมชนโดยรอบในจังหวัดปทุมธานี ร่วมกันจัดงาน “อัตลักษณ์แห่งศิลป์ ณ ถิ่นเมืองปทุมฯ” ภายใต้แนวคิด Color of Pathum สีสันแห่งปทุมธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม 2567 ณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อร่วมกันนำเสนอความอุดมสมบูรณ์และอัตลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานีที่เต็มไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมอันหลากหลาย

     โดยภายในคอนเสิร์ตฮอล์มีการเปิดวิดีทัศน์ “ณ ถิ่นเมืองปทุมฯ” เผยถึงความงดงาม และความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดปทุมธานี ที่เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า ซึ่งเกิดจากผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมที่อาศัยอยู่ร่วมกัน พร้อมด้วยการแสดงจากคัลเลอร์การ์ดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการแสดงที่ผสมผสานความพลิ้วไหวและความแข็งแรงได้อย่างลงตัว ผ่านสีสันแห่งสายน้ำ บัวหลวง และรวงข้าว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัดปทุมธานี และการบรรเลงดนตรีจาก TU Symphony Orchestra ในบทเพลง Beauty and the beat, บุพเพสันนิวาส และยินดีที่ไม่รู้จัก

     นอกจากนี้ ยังมีการแสดงโขนชุด “เกี้ยวนางสีดาแปลง และเชิดฉิ่งเบญจกาย” โดย ชุมนุมนาฎศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งการแสดงโขนเป็นหนึ่งในการแสดงชั้นสูงที่มีความสง่างามและอ่อนช้อยรวมถึงยังผสมผสานศิลปะหลากหลายแขนงไว้ด้วยกัน ต่อด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดปทุมธานี ชุด “โกฮับ ไล้เหลี่ยว” (ก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิต) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานมาจากความโด่งดังของก๋วยเตี๋ยวเรือแห่งนครรังสิต โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวมไปถึงการนำเสนอเครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์ในแฟชั่นโชว์ชุด “อัตลักษณ์แห่งศิลป์ ณ ถิ่นเมืองปทุมฯ” จากผลงานการออกแบบของนักศึกษาจากคณะคหกรรมศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ภายใต้แนวคิด “นวัตวิถีแห่งปทุม” ซึ่งเป็นการนำเสนอการแต่งกายอัตลักษณ์เมืองปทุม ทั้งการแต่งกายชุดมอญ, การแต่งกายชุดผ้าใยกล้วย, ผ้าพิมพ์บัว, ผ้าย้อมบัว และผ้าย้อมใบย่านาง

     และแฟชั่นโชว์ผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายจาก ‘ผ้าขาวม้า’ ของโครงการบริการสังคมเพื่อชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชาของสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การแสดงผลงานผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากใยบัวหลวง ภายใต้แบรนด์ WORLACHA โดย ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเส้นใยและผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากใยบัวหลวง จังหวัดปทุมธานี การแสดงผลงานผ้าทอใยกล้วยบัวหลวง ภายใต้แบรนด์ พิมพ์ตะวัน โดย วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตการเกษตรแสงตะวัน จังหวัดปทุมธานี

     และปิดท้ายกิจกรรมภายในคอนเสิร์ตฮอล์ด้วยแฟชั่นโชว์ผลงานการออกแบบลายผ้าดิจิทัล “อัตลักษณ์แห่งศิลป์ ณ ถิ่นเมืองปทุมฯ” ซึ่งออกแบบโดย ผศ.สรรพจน์ มาพบสุข และคุณเตชทัต หลวงพิทักษ์ จากสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     นอกจากนี้ มีการจัดนิทรรศการผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากใยกล้วย และใยบัวหลวง รวมถึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP และของดีเมืองปทุม รวมถึงการแสดงดนตรีจากวงดนตรีลูกทุ่ง โรงเรียนปทุมวิไล จังหวัดปทุมธานี การแสดงจาก TU Band, TU Folksong และมินิคอนเสิร์ตจากคุณอะตอม ชนกันต์ บริเวณเวทีริมน้ำ ลานอาจารย์ปรีดี และอาจารย์ป๋วยฯ

     “อัตลักษณ์แห่งศิลป์ ณ ถิ่นเมืองปทุมฯ” จะเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างหลากหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันนำเสนออัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานีในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมกับการต่อยอดภูมิปัญญา ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มศักยภาพผ้าท้องถิ่นปทุมธานีให้ก้าวสู่สากล