Loading...

‘นอนกรน’ แบบไหนที่เสี่ยงเป็นโรค พูดคุยกับอาจารย์แพทย์ธรรมศาสตร์ ด้านการนอนหลับ

นอนกรนเสียงดังจนเป็นปัญหา บางครั้งมีอาการหยุดหายใจ อันตรายแค่ไหน ต้องรักษาอย่างไร พูดคุยกับอาจารย์ นพ.ฉัตรกรินทร์ เทพวิมลเพชรกุล คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2566

     อาการนอนกรน อาจเป็นปัญหาที่หลายคนกำลังประสบทั้งคนกรนเองและคู่นอน บางคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป กรนเบา กรนเสียงดัง หรือรุนแรงจนไปถึงมีอาการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่ว ซึ่งอาการนอนกรนที่ผิดปกตินี้เอง อาจบ่งบอกว่าคุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือ Obstructive Sleep Apnea (OSA) 

     แล้วการ ‘นอนกรน’ เกิดจากอะไร แบบไหนถึงเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าไม่ใช่แค่การนอนกรนธรรมดา ชวนพูดคุยกับ อาจารย์ นพ.ฉัตรกรินทร์ เทพวิมลเพชรกุล อาจารย์แพทย์หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

     สาเหตุของการนอนกรน อาจารย์ นพ.ฉัตรกรินทร์ ระบุว่า ‘การนอนกรน’ เกิดจากการที่เราหายใจเข้า แล้วบังเอิญลมหายใจของเราไปถูกอวัยวะบางอย่าง อาจเป็นลิ้นไก่หรือว่าลิ้น ทำให้เกิดการกระพือจนมีเสียงกรนออกมา เพราะฉะนั้นบางคนพอทำงานเหนื่อย ก็อาจทำให้มีอาการนอนกรนได้ แต่ปัญหาจากการนอนกรนจะต้องประกอบกับสาเหตุอื่นด้วย ซึ่งการนอนกรนอาจเป็นแค่การนอนกรนธรรมดาไม่ได้มีภาวะหยุดหายใจหรือว่าหายใจแผ่วร่วมด้วย

‘นอนกรน’ แบบไหนที่เสี่ยงเป็นโรค

     จะรู้ได้อย่างไรว่าการนอนกรนของเรา มีความเสี่ยงหรือเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา อาจารย์ นพ.ฉัตรกรินทร์ อธิบายว่า ภาวะนอนกรน หากมีอาการแค่เสียงกรนธรรมดา อาจไม่ได้เป็นปัญหา แต่หากมีเสียงนอนกรนที่ดังผิดปกติและมีปัญหาเรื่องของการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วร่วมด้วย อาจเป็นอาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA)

     โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว จะทำให้ออกซิเจนที่เราได้รับเวลานอนหลับ ตกเป็นช่วง ๆ ส่งผลเสียต่อสมองทำให้ตื่นตัวบ่อย นอนหลับอย่างไม่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการตามมา เช่น ตื่นมารู้สึกไม่สดชื่น ซึ่งปกติแล้วคนเราควรจะนอนประมาณ 7 – 9 ชั่วโมง เมื่อนอนได้ไม่เต็มที่ ประสิทธิภาพการทำงานในระหว่างวันก็จะน้อยลง แต่ในบางคนมีอาการระหว่างคืน เช่น อาการหลับ ๆ ตื่น ๆ ระหว่างคืน หรือมีปัญหาสะดุ้งตื่นขึ้นมาสำลักน้ำลาย

     หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด โดยตัวอย่างอาการและความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ ได้แก่

   1) คนไข้ที่มีโรคประจำตัว โรคความดันโลหิตสูง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโดยเฉพาะคนที่เป็นโรคความดันในอายุน้อย หรือการเป็นความดันที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งโรคนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันที่ผิดปกติดังกล่าว  

   2) มีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน ตื่นนอนมาไม่สดชื่น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการนอนอย่างเพียงพอ

   และ 3) ระหว่างนอนมีปัญหากรนเสียงดังหรือว่ามีอาการหยุดหายใจ ส่วนอาการที่เราจะพอสังเกตได้ หรือว่าสัมผัสกับตัวเองก็คือการตื่นมาเหมือนสำลักน้ำลายระหว่างคืน

     “อาการนอนกรนที่มีภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นโรคเดียวกับโรคไหลตาย แต่ความเป็นจริงแล้วไม่เหมือนกัน โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นไม่ทำให้หลับแล้วไหลตาย หรือเสียชีวิตไปเลย คนที่เป็นโรคนี้เมื่อเราหยุดหายใจไป ออกซิเจนเราก็จะตก แล้วร่างกายเราก็จะมีกระบวนการในการกระตุ้นให้เราตื่นเอง อย่างบางคนก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาระหว่างคืน ซึ่งเป็นธรรมชาติของโรคนี้”อาจารย์ นพ.ฉัตรกรินทร์ กล่าว

การรักษาอาการนอนกรน

     ในการรักษาอาการนอนกรนมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับระดับอาการว่ามีภาวะการนอนกรนในระดับใด เป็นการกรนธรรมดา หรือมีภาวะหายใจแผ่ว แล้วก็หยุดหายใจหรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยการตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test เพราะการให้คำแนะนำในการรักษาของอาการในแต่ละระดับนั้นไม่เหมือนกัน

     ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่คนไข้มีปัญหาเรื่องของหยุดหายใจรุนแรงร่วมกับออกซิเจนในเลือดตก ต้องมีการรักษาโดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกหรือว่าเครื่อง CPAP ในทางกลับกันหากมีอาการนอนกรนหยุดหายใจหรือว่าหายใจแผ่วแค่เล็กน้อย วิธีในการรักษาจะทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน การใส่อุปกรณ์ทันตกรรม หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการนอนหงายมาเป็นนอนตะแคง วิธีเหล่านี้เองเป็นวิธีรักษาที่ต้องปรับตามอาการของคนไข้

     คนที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) แล้วไม่ทำการรักษา นอกจากจะทำให้เรามีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน ทำงานได้ประสิทธิภาพไม่เต็มร้อย ยังพบว่าในคนที่เป็นรุนแรง ก็จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต อาจจะมีเกี่ยวข้องกับสมองเสื่อม รวมถึงในเรื่องของภาวะดื้อต่ออินซูลินของเบาหวาน การศึกษาพบว่าในบางรายที่มีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า แล้วเป็นโรคนอนกรน ถ้ารักษาควบคู่กันไป ก็จะทำให้อาการที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าคุมได้มากขึ้น

พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดภาวะนอนกรน

     อาจารย์ นพ.ฉัตรกรินทร์ ระบุว่าพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเรามีผลต่อการกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการนอนกรนและโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยตัวอย่างพฤติกรรมหรือปัจจัยกระตุ้นในเกิดโรคได้แก่

   1) น้ำหนักตัว โดยพบว่าในคนที่มีน้ำหนักตัวมากจะมีผลต่อภาวะหรือความรุนแรงของอาการนอนกรน ไปจนถึงการเป็นโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เพราะฉะนั้นการที่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกาย การจํากัดอาหาร ก็อาจจะช่วยในเรื่องของความรุนแรงของโรคได้

   2) การดื่มแอลกอฮอล์ มีผลต่อการเกิดอาการกรน เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำให้มีความสามารถในการตึงตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนของเราแย่ลง ทำให้หลายคนมักมีอาการกรนมากกว่าเดิมหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

   3) ท่าการนอน ปกติแล้วโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จะเป็นมากที่สุดตอนท่านอนหงาย เนื่องจากเวลาเรานอน ลิ้นหรือลิ้นไก่หรืออวัยวะบริเวณช่องคอจะตกตามแรงโน้มถ่วงของโลก ดังนั้นจึงต้องอาศัยการเปลี่ยนไปนอนตะแคงข้าง เพราะการนอนตะแคงจะทำให้ทางเดินหายใจถูกเปิด จะทำให้นอนได้ต่อเนื่องมากขึ้น

     จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของเราส่งผลต่อภาวะการนอนกรน ดังนั้นเราสามารถดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดหรือบรรเทาอาการนอนกรนได้ เช่น การนอนให้เป็นเวลา การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

ศูนย์การนอนหลับธรรมศาสตร์

     สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นอาการนอนกรน ไปจนถึงหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) หรือมีปัญหาสุขภาพการนอนหลับที่อยากปรึกษา เข้ารับการวินิจฉัยรักษา ศูนย์การนอนหลับธรรมศาสตร์ อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ตอบโจทย์นั้น

     “ปัจจุบันโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีศูนย์การนอนหลับธรรมศาสตร์ ให้บริการ ซึ่งจะให้การตรวจโดยมีแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับโรคการนอนหลับ โดยเป็นศูนย์การนอนหลับที่เป็น 1 ใน 8 ของประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานการตรวจคุณภาพจากสมาคมโรคการนอนหลับแห่งประเทศไทย” อาจารย์ นพ.ฉัตรกรินทร์ กล่าว