Loading...

คณะวิทย์ฯ และคณะพาณิชย์ฯ มธ. ร่วมมือออกแบบหลักสูตรข้ามศาสตร์ ผลิตบุคลากรคุณภาพด้านนวัตกรรมอาหาร

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย คณะวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมมือทางวิชาการกับคณะพาณิชยศาสตร์ฯ พัฒนาและผลิตมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2567

     เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการจัดการเรียนการสอนข้ามศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร หลักสูตรปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2566 (HRFIN) เพื่อพัฒนาและผลิตมหาบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอาหารให้ตอบโจทย์โลกอนาคต ด้วยทักษะความรู้และมีทักษะความชำนาญสูงทางด้านนวัตกรรมอาหารและการบริหารธุรกิจ โดยมี รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รศ.ดร.สมชาย สุภัทรกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นผู้ลงนามฯ

     รศ.ดร.ประภาศรี เทพรักษา ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าวมีเป้าหมายในการผลิตมหาบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอาหารที่มีคุณลักษณะ 3 ประการ คือ 1. มีทักษะความรู้และมีทักษะความชำนาญสูงในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่พร้อมขยายผลสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ 2. สามารถประยุกต์ใช้ทักษะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ช่วยส่งเสริมให้ที่มีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารได้ตามความต้องการผู้บริโภค และ 3. มีสมรรถนะสูงทางด้านกระบวนการคิด การสื่อสาร และการเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร

     แต่ในปัจจุบันนั้น องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารเพียงศาสตร์เดียว ไม่สามารถสร้างมหาบัณฑิตทางด้านนวัตกรรมอาหารตามเป้าหมายของหลักสูตรได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งองค์ความรู้จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จะช่วยเติมเต็มให้มหาบัณฑิตของหลักสูตรได้อย่างสมบูรณ์ โดยได้เลือกรายวิชาของหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มาบรรจุเป็นวิชาเลือกให้กับนักศึกษา HRFIN เช่น 1. บธ.605 การวิเคราะห์ทางธุรกิจ 2. บธ.610 การบัญชีเพื่อการตัดสินใจ 3. บธ.630 การจัดการการตลาดและตราสินค้า 4. บธ.731 ความเข้าใจเชิงลึกในพฤติกรรมผู้บริโภค 5. บธ.732 กลยุทธ์การตลาดดิจิทัล และ 6. บธ.734 การตลาดสำหรับผู้ประกอบการ

     “ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นมิติใหม่ และเป็นต้นแบบของจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรโดยความร่วมมือข้ามศาสตร์ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี อันจะส่งผลเกิดเป็นประโยชน์ในการช่วยกันวางรากฐานและการพัฒนาวงการการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป” รศ.ดร.ประภาศรี กล่าว

     รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การทำบันทึกข้อตกลงนี้ จะร่วมกันดำเนินการจัดการเรียนการสอน การควบคุมวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ การค้นคว้าอิสระ การสอบวิทยานิพนธ์ การสอบประมวลความรู้ และ/หรือ การสอบวัดคุณสมบัติ ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาโทที่ศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

     รวมถึงสร้างโอกาสให้นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เพิ่มพูนความรู้ และสามารถนำความรู้และประสบการณ์จากการศึกษามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้

     รศ.ดร.สมชาย สุภัทรกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนคณะฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ภายใต้ แนวคิด TBS Forward ซึ่งครอบคลุมการขับเคลื่อนทั้งหมด 4 กลยุทธ์หลักได้แก่ 1. ขับเคลื่อนความเป็นนานาชาติ (International Forward) 2. ขับเคลื่อนความร่วมมือ (Collaboration Forward) 3. ขับเคลื่อนทางการเงิน (Financial Forward) และ 4. ขับเคลื่อนความสุขบุคลากร (Happiness Forward)

     “คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้ผนึกกำลังกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้กลยุทธ์การขับเคลื่อนความร่วมมือ (Collaboration Forward) ในการร่วมสร้างมหาบัณฑิตที่มีลักษณะและความรู้ซึ่งผสานรวมระหว่างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร ที่มีสมรรถนะสูงทางด้านกระบวนการคิดและการสื่อสาร พร้อมเป็นบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารระดับผู้นำ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือนี้ จะกลายเป็นก้าวสำคัญที่เกิดเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่เป็นรูปธรรม ระหว่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อไป” รศ.ดร.สมชาย กล่าว