Loading...

‘ปลาร้าทอดกรอบสุญญากาศ’ ชนะเลิศนวัตกรรมอาหาร 2021 ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ New Normal

ร้าแซ่บ ผลงานจากทีม “ร้าแซ่บ” คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้าแชมป์ Food Innopolis Contest 2021 ในรุ่น Heavy Weights

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2564

      

     เมื่อโลกเปลี่ยนไป เทรนด์อาหารของโลกก็เปลี่ยนตาม จุดมุ่งหมายของการก้าวไปสู่ “ครัวของโลก” นั้น เพียงแค่มีแหล่งผลิตอาหารที่สมบูรณ์ วัตถุดิบที่หลากหลาย หรือขับเคลื่อนด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม คงไม่พออีกต่อไป

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ จึงอยู่ที่การมีนวัตกรรมอาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในยุคโควิด-19

     “ร้าแซ่บ ปลาร้าทอดกรอบสุญญากาศ” ผลงานจากทีม “ร้าแซ่บ” คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันโครงการ Food Innopolis Contest 2021 ในรุ่น Heavy Weights ในหัวข้อ Food Heritage Innovation เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมอาหารที่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบ New Normal ได้เป็นอย่างดี

     จาก “ปลาร้าทอด” มรดกภูมิปัญญาอาหารดั้งเดิมของชาวโคราช ต่อยอดโดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนกลายมาเป็น “ร้าแซ่บ ปลาร้าทอดกรอบสุญญากาศ” แม้รูปร่างหน้าตาจะเปลี่ยนไป แต่ยังคงรสชาติแซ่บนัวสไตล์อีสานไว้ได้อย่างครบเครื่อง

     หนำซ้ำ ยังสามารถเก็บรักษาได้นานกว่า พกพาสะดวกทานที่ไหนก็ได้ เพียงเปิดซองก็พร้อมอร่อยได้ทันที

     จุดเด่นของ “ร้าแซ่บ ปลาร้าทอดกรอบสุญญากาศ” คือชิ้นเนื้อปลาทานง่ายขนาดพอดีคำ มีโปรตีน แคลเซียม วิตามินบี และ เหล็กปริมาณ 1 ซองเท่ากับ ปลานิล 1 ตัว สามารถเก็บได้นาน 12 เดือน มีแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตที่สะอาดปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค

     น.ส.ฐิติชยาน์ ธนาเลิศกุลธรณ์ นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกทีมร้าแซ่บ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำ “ร้าแซ่บ ปลาร้าทอดกรอบสุญญากาศ” เนื่องจากมีบ้านเกิดอยู่ที่โคราช และปลาร้าปลานิลถือหนึ่งมรดกภูมิปัญญาอาหารดั้งเดิมของชาวโคราช แต่ส่วนใหญ่จะทานปลาร้าปลานิลทอดทั้งตัว เนื้อจะแฉะ ดูไม่ค่อยสะอาดปลอดภัย เหม็นหืนง่าย เก็บไว้นานไม่ได้

     ที่สำคัญคือ สำหรับคนที่พักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม การทอดปลาร้าปลานิลเป็นเรื่องยุ่งยาก ส่งกลิ่นรุนแรง คนเลยไม่ค่อยรับประทานกัน

     จากข้อจำกัดดังกล่าว น.ส.ฐิติชยาน์ กับน้องสาว น.ส.บุญสิตา อุฒาธรรม ที่กำลังมองหาธุรกิจที่จะทำร่วมกัน จึงได้หยิบเอาปลาร้าทอดมาต่อยอด พัฒนาเป็น “ร้าแซ่บ ปลาร้าทอดกรอบสุญญากาศ” โดยให้น้องสาวรับผิดชอบเรื่องการบริหารและการขาย และได้ร่วมกับเพื่อนอีกคนคือ น.ส.กนกวรรณ พ่วงคร นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ช่วยรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์

     น.ส.ฐิติชยาน์ เล่าต่อว่า “ร้าแซ่บ ปลาร้าทอดกรอบสุญญากาศ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบปลาร้าปลานิลใหม่ ให้มีความสะดวกสบาย เข้ากับชีวิตคนเมือง มีอายุการเก็บรักษาที่มากขึ้น เพราะเมื่อเราเอาน้ำออก อาหารก็ยิ่งมีอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น เป็นการนำเสนอประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค จากการวิจัยผู้บริโภคให้ความสนใจระดับ 90% เมื่อลองทำตลาดออนไลน์ก็ได้รับความสนใจ และจากการรวบรวมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Ads หรือการรวบรวมข้อมูลในการทำธีสิส มั่นใจว่าสามารถไปได้ในตลาด

     “ร้าแซ่บ ปลาร้าทอดกรอบสุญญากาศ เป็นโครงการทำธีสิสจบ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนที่นำมาต่อยอดไปสู่การประกวด อาจารย์ที่ปรึกษามีส่วนช่วยเหลือเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางภาควิชาได้เห็นถึงความสำคัญ มีเงินทุนก้อนแรกให้เริ่มต้น อาจารย์คอยให้คำปรึกษาทุกด้าน ทุกทาง ถ้ามีปัญหาสามารถติดต่อได้ตลอดเวลา”

     พวกเราตั้งเป้าหมายจะพัฒนาร้าแซ่บ ปลาร้าทอดกรอบสุญญากาศให้สามารถวางขายในตลาดได้จริง และในอนาคตจะมีลูกค้าในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (CLMV) ไม่ใช่แค่ขายในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะขยายตลาดไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีลูกค้ากลุ่มไหนสนใจเข้ามา ตอนนี้เริ่มมีกลุ่มแม่บ้านต่างแดนสนใจ หลังจากเห็นผลงานการประกวด  

     “ตอนนี้พวกเรากำลังเริ่มระดมทุนสำหรับการผลิตร้าแซ่บ ปลาร้าทอดกรอบสุญญากาศ ออกจำหน่าย โดยที่ราคาขายจะอยู่ที่ห่อละ 35 บาท ขณะที่ปลาร้าปลานิลทอดปกติจะอยู่ที่ตัวละประมาณ 25-30 บาท จะเห็นได้ว่าราคาต่างกันไม่มาก แต่มีความสะดวก และรูปแบบที่แปลกใหม่กว่า พวกเราภูมิใจที่ได้รับรางวัลมา เพราะเป็นรางวัลที่มีคุณค่าต่อการเริ่มต้นของพวกเรา ที่เราอยากจะตีตลาดต่อไปในอนาคต” น.ส.ฐิติชยาน์ ระบุ

     นอกจาก “ร้าแซ่บ ปลาร้าทอดกรอบสุญญากาศ” ยังมีนวัตกรรมด้านอาหารผลงานจากนักศึกษา มธ. ได้รับรางวัลจากการแข่งขันโครงการ Food Innopolis Contest 2021 รวมทั้งสิ้น 5 ทีม 7 รางวัล อาทิ Trumpkin vegan cheese” ผลิตภัณฑ์ “ชีสวีแกน” ที่ทำมาจากฟักทอง ผลงานของทีม Trumpkin ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัล Popular Vote ในรุ่น Heavy Weights ในหัวข้อ Future Lifestyle Food Innovation

     “โกจึดริ้ง” ผลิตภัณฑ์ “เยลลี่คาราจีแนนน้ำใบบัวบกผสมน้ำผึ้งมะนาว” ผลงานจากทีมโกจึ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในรุ่น Light Weight  ในหัวข้อ Food Heritage Innovation

     “Hody Cheese” ผลิตภัณฑ์ชีสทางเลือกใหม่จากเมล็ดกัญชง โปรตีนสูง ผลงานจากทีม 3HC ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในรุ่น Light Weight ในหัวข้อ Future Lifestyle Food Innovation

     “Dè Blong” ข้าวหลามกึ่งสำเร็จรูป จากข้าวเหนียวลืมผัว ผลงานจากทีม Crewmate TU ได้รับรางวัล Popular Vote และ รางวัล Honorable Mention ในรุ่น Light Weight ในหัวข้อ Food Heritage Innovation