Loading...

ธรรมศาสตร์ จับมือ OKMD และ 88 SANDBOX จัดงาน ‘LEARN LAB EXPO’ ชวนเด็กไทยมา ลอง–เรียน–รู้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือ OKMD และ 88 SANDBOX จัดมหกรรมตลาดการเรียนรู้ครั้งแรกของไทย LEARN LAB EXPO สร้างแรงบันดาลใจและทักษะ

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2566

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือสํานักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD และ 88 SANDBOX จัดมหกรรมการศึกษา “LEARN LAB EXPO” ชวนเด็กไทยมา ลอง – เรียน – รู้ มหกรรมตลาดการเรียนรู้ครั้งแรกของไทย โดยมีกิจกรรมช่วยสร้างแรงบันดาลใจและทักษะของตนเอง รวมถึงการนำเสนอผลงานจากกลุ่ม Startup และการเสวนาจากกูรูในแวดวงการศึกษา ณ มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2566

     โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์, รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์, ศ.ดร.ณภัทร สรอัฑฒ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิติศาสตร์ และ รศ.ดร.อัญณิฐา ดิษฐานนท์ ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย

     รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า LEARN LAB EXPO เป็นความร่วมมือครั้งแรกของธรรมศาสตร์กับ OKMD ด้วยแนวคิดตรงกันที่ว่า โลกการเรียนรู้เปลี่ยนไปแล้ว รูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมจะไม่สามารถตอบโจทย์กับโลกสมัยใหม่ ความรู้มีเยอะและออกใหม่ตลอดเวลาต่างกับทักษะ ซึ่งได้แก่ ความสามารถในการทำอะไรให้เก่ง ให้เชี่ยวชาญ ความรู้ล้าสมัยได้ ขณะที่ทักษะนั้นจะติดตัวเราไป ซึ่งมีทั้ง Soft Skills และ Hard Skills และเราอยากทำให้การศึกษาเปิดกว้างไปถึงรูปแบบที่เด็กออกแบบได้ว่าตนเองอยากเรียนอะไร (Design Your Own Degree) และจบแล้วจะเป็นอะไร เพราะคนที่รู้ดีที่สุดควรเป็นตัวเด็กไม่ใช่สถานศึกษา

     ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อํานวยการสํานักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD กล่าวว่า OKMD มีแพสชันที่อยากจะทำให้เรื่องใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม “LEARN LAB EXPO” ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ เรียกว่าเป็น Learning Hackathon แรก ๆ ของประเทศไทยก็ว่าได้ ตรงนี้เป็นเวทีที่คนมี Pain Point จริง มาช่วยออกแบบการเรียนรู้แบบใหม่ OKMD มีโจทย์ ทางธรรมศาสตร์และ 88 SANDBOX เขามีวิธีการ นอกจากนี้ เรายังมีพาร์ทเนอร์อีกมากมาย ที่มาช่วยกันสร้างเครื่องมือเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา OKMD สร้างสนามเรียนรู้ที่เรียกว่า เพลย์กราวด์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้สนามเด็กเล่นที่เราพยามยามพัฒนามาตลอดกว่า 10 ปี และตอนนี้ได้พัฒนาการเรียนรู้ที่เด็กและผู้ใหญ่เล่นได้จริงอีกด้วย

     LEARN LAB EXPO จึงรวบรวมทุกอย่างไว้ที่นี่ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงความรู้อย่างกว้างขวางและรอบด้าน ด้วยโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านการเรียนรู้และการศึกษาให้กับประเทศ สร้างและส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการศึกษา ที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเรียนรู้และการศึกษาในสังคมให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งบ่มเพาะผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างไอเดียจากศูนย์สู่ความสำเร็จ และพัฒนานวัตกรรมใหม่อย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่จำกัดเพศ อายุ อาชีพ หรือระดับการศึกษาของผู้เข้าร่วมแข่งขันในโครงการ

     ทั้งนี้ ภายในงานมีการประกวดแนวทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD x 88 Learnovation Program Award Ceremony มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 100 ทีม (237 คน)

     โดย ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม EdSpeak แอปพลิเคชัน AI English Coach ที่พัฒนาโดยสตาร์ทอัพ Edsy ด้วยเป้าหมายที่จะช่วยสร้างโอกาสให้นักเรียนทั่วประเทศได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษพร้อมรับคำชี้แนะรายบุคคลอย่างเป็นประจำ ปัจจุบัน EdSpeak อยู่ระหว่างการนำร่องกับโรงเรียน 50 แห่ง ผ่านความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักการศึกษา กทม. และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระยอง

     รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม CodeVenture แพลตฟอร์มส่งเสริมการเรียนรู้โค้ดดิ้งในรูปแบบเกมสำหรับเยาวชน โดยหลักสูตรมาตรฐานระดับสากล และเอไอที่คอยช่วยให้คำแนะนำรายบุคคลที่จะมาเป็นผู้ช่วยครู รวมถึงระบบติดตามการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทีม Aim Global Innovation เป็นบริษัทสตาร์ทอัพของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้านเอไอ ที่เรียกว่า AIThaiGen โดยเอไอไทยเจนเป็นแพลตฟอร์มที่ง่ายต่อการเข้าถึง เรียนรู้ และใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนด้านพื้นฐานเอไอ การเขียนโปรแกรมภาษาไพธอน การประมวลผลภาพ การวิเคราะห์ข้อมูล และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกเพื่อสร้างโครงงานต่าง ๆ โดยผู้เรียนสามารถเข้าใช้งานได้ทางเว็บไซต์ aithaigen.in.th ทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ มือถือหรือแท็ปเล็ต จึงเปิดโอกาสให้คนไทยและต่างชาติได้เรียนรู้เทคโนโลยีเอไอได้อย่างง่ายดาย