Loading...

ครบรอบ 20 ปี ‘กองทุนทำบุญวันเกิดกับธรรมศาสตร์’ ส่งมอบโอกาสการศึกษาให้รุ่นน้อง มธ.

เฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี กองทุนทำบุญวันเกิดฯ “2 ทศวรรษแห่งการแบ่งปัน 9 ทศวรรษแห่งการสร้างสรรค์สังคม” และก้าวสู่ปีที่ 90 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ.2567

     เป็นเวลา 2 ทศวรรษที่กองทุนทำบุญวันเกิดกับธรรมศาสตร์ ได้มอบโอกาสการศึกษาให้กับนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ ด้วยการจัดสรรทุนการศึกษาตั้งแจ่ปี 2552 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันมีนักศึกษาได้รับทุนจากกองทุนฯ รวมทั้งสิ้น 15 รุ่น จำนวน 167 คน โดยกระจายใน 22 คณะ เป็นนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาแล้ว 11 รุ่น จำนวน 77 คน โดยมีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 จำนวน 11 คน เกียรตินิยมอันดับ 2 จำนวน 12 คน

     เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี กองทุนทำบุญวันเกิดกับธรรมศาสตร์ และวาระพิเศษก้าวเข้าสู่ปีที่ 90 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองทุนทำบุญวันเกิดฯ และสำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์ ได้จัดงาน “2 ทศวรรษแห่งการแบ่งปัน 9 ทศวรรษแห่งการสร้างสรรค์สังคม” ในวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกล่าวเปิดงานโดย รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ภายในงานอบอวลไปด้วยบรรยากาศอันอบอุ่นจากทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันจากทั่วประเทศที่เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ พร้อมด้วยการแสดงต่าง ๆ จากศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น ดร.มนัสวิน นันทเสน หรือ ติ๊ก ชีโร่ ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ ที่มาพร้อมบทเพลงสุดซึ้ง แต่งขึ้นเพื่องานกองทุนทำบุญวันเกิดฯ, การแสดงจาก TU Chorus และ TU Colorguard

     ทางกองทุนฯ ยังได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 และอดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มาร่วมเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Looking back & forward: เหลียวหลังแลหน้าธรรมศาสตร์และประชาชน” พร้อมมอบภาพวาดศิลปะตึกโดม แผ่นบันทึกความทรงจำบนแผ่นปฏลโดมให้แก่กองทุนทำบุญวันเกิดฯ

     ฯพณฯ ชวน กล่าวว่า ตั้งแต่ 90 ปีที่แล้ว แน่นอน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ประกาศหลักการ 6 ข้อ ได้แก่ (1) หลักเอกราช (2) หลักความปลอดภัย (3) หลักเศรษฐกิจ (4) หลักเสมอภาค (5) หลักเสรีภาพ และ (6) หลักการศึกษา ซึ่งเป็นเหตุผลที่เมื่อมีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นการสมควรบำรุงการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในระดับมหาวิทยาลัยเช่นนานาประเทศ จึงจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเป็นพิเศษ

     “ในวันเปิดมหาวิทยาลัย วันที่ 27 มิถุนายน 2477 ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การรายงานต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ‘มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา’ จึงเป็นการก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้” ฯพณฯ ชวน กล่าว

     ทั้งนี้ ฯพณฯ ชวน กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันบทบาทของสถาบันการศึกษามีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังคงยึดหลักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเท่าเทียม หลักนิติธรรม อันเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

     “ปัจจุบันมีหลายสถาบันมากขึ้นที่สามารถผลิตบุคลากรในการบริหารประเทศ และหากสถาบันการศึกษาเหล่านั้นมีการปลูกฝังเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันจริงจัง ให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรม เชื่อว่าจะทำให้มีผู้บริหารประเทศรวมถึงผู้นำของฝ่ายปกครองที่มีความสามารถมีศักยภาพมากขึ้นได้”

     ในช่วงท้าย ฯพณฯ ชวน ได้เน้นย้ำให้มหาวิทยาลัย ผลิตศิษย์ที่มีความรับผิดชอบ เพราะเมื่อศิษย์มีความรับผิดชอบแล้ว ก็จะปราศจากการทุจริต พร้อมขอให้ศิษย์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งสำคัญ

     “นี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับประชาชนนั้นเชื่อมโยงกัน สร้างบัณฑิตออกไปรับใช้ประเทศชาติและประชาชน” ฯพณฯ ชวน กล่าว

     นอกจากนี้ ยังมีวงเสวนาพิเศษจากศิษย์เก่าในหัวข้อ “มุมมองฅนธรรมศาสตร์ มองปัญหาสู่ทางออกสังคมไทย” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ ในหัวข้อ: คอร์รัปชัน, คุณวิชัย ทองแตง ในหัวข้อ: ธุรกิจโลกใหม่ และคุณศิริกัญญา ตันสกุล ในหัวข้อ: เศรษฐกิจ ดำเนินรายการโดย อาจารย์เกษมสันต์ วีระกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กองทุนทำบุญวันเกิดฯ

     ศ.พิเศษ วิชา ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ กล่าวระหว่างบรรยายหัวข้อ “ทุจริต” ว่า ปัญหาการทุจริตเป็นเรื่องที่หนักมาก เพราะหลายภาคส่วนยังไม่ได้ทำงานแบบผนึกกำลังกันอย่างจริงจัง ในด้านของการทำงานเพื่อให้บรรลุผล เพราะว่าวิสัยของคนไทยเป็นประเภทต่างคนต่างทำ แล้วยังไม่เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาร้ายแรงแค่ไหน

     คุณวิชัย ทองแตง กล่าวในหัวข้อ “ธุรกิจโลกใหม่” ว่า สตาร์ทอัพไทยเกิดมาเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่น แต่ว่ารอดแค่ 1% มี VC มาร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพไทยเยอะมาก แต่ว่าไปไม่ถึงไหน เพราะสถาบันต่าง ๆ มีการระบุว่า ‘เมื่อไหร่ที่คุณจะเพิ่มทุนหรือขยายธุรกิจ คุณต้องมาขอความยินยอมจากสถาบันก่อน’ นี่คือปัญหาที่ใหญ่สำหรับผม คนที่ปฏิบัติ

     “ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศกำลังพัฒนามา 20 ปีแล้ว คนไทยมีรายได้เฉลี่ยปานกลาง 2.4 แสนบาท/คน/ปี ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 แสนบาท/คน/ปี พร้อมกล่าวว่า ปี 2565 มีผู้ยื่นลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนทะลุ 22 ล้านกว่าราย นับจากผู้มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมาก ๆ” 

     “ทุกวันนี้เส้นแบ่งแห่งความยากจนคนไทยยังอยู่ที่ 2,802 บาท/คน/เดือน ปีละ 3 หมื่นกว่าบาทเองครับ คนไทยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กับดักนี้ ผมรับไม่ได้ ออกเดินสายบรรยายฟรีทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำไม่มากก็น้อย” คุณวิชัย ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ กล่าว

     คุณศิริกัญญา ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “เศรษฐกิจ” ว่า  ไทยมีปัญหาในเรื่องของโครงสร้าง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอจึงต้องมีการกระตุ้นด้วย ดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนหนึ่งมาจากช่องว่างของคนจนกับคนรวย และยังมีเรื่องของการลงทุนต่ำ ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเหมือนกับสมัยก่อนช่วงต้มยำกุ้ง ปี 2540 จนมาถึงทุกวันนี้ ทำให้ภาคการผลิตมีน้อย ภาคแรงงานมีน้อย

     นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนผ่านการคอร์รัปชัน เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการผูกขาดอะไรบางอย่าง เพื่อให้มีผลตอบแทนที่สูงกว่า และยังมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนด้วยนวัตกรรม

     “ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแอ การลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ ความเหลื่อมล้ำที่มันสูง ทางออกของเศรษฐกิจแบบนี้ ยังคงเป็นการแจกเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นอยู่หรือเปล่า ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นขึ้นมาในระยะสั้น ๆ ได้” คุณศิริกัญญา กล่าว

     ทั้งนี้ ทางกองทุนทำบุญวันเกิดฯ ได้มีการมอบโล่เกียรติคุณให้แก่คุณศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย, คุณเพลินจิตต์ พงศ์อารยะ, คุณปิยนุช รัตนประสาทพร, ศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส เเละบริษัท เหรียญทองการพิมพ์ จำกัด ในฐานะศิษย์เก่าผู้มีอุปการคุณต่อกองทุนฯ พร้อมปิดท้ายด้วยการรับทุนสนับสนุนจากทางบรรดาศิษย์เก่าของธรรมศาสตร์ทั่วประเทศ 

     อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถร่วมทำบุญ เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์กับ “กองทุนทำบุญวันเกิดธรรมศาสตร์” ผ่านทางระบบ e-Donation โดยการสแกน QR Code หรือติดต่อสอบถามได้ที่ 02-613-3777 หรือ 086-542-5791 และไอดีไลน์ @bdfundfortu