Loading...

“สุขภาพจิตดี” เริ่มต้นจากการดูแลตนเอง นักจิตวิทยา แนะไม่ต้องรอจนป่วย ก็ปรึกษาได้

“สุขภาพจิตดี” เริ่มต้นจากการดูแลตนเอง นักจิตวิทยา แนะไม่ต้องรอจนป่วย ก็ปรึกษาได้

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2562

  

           ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนเริ่มหันมาสนใจและใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพจิตกันมากขึ้น รวมถึงปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นกับทุกช่วงวัยด้วย แล้วปัจจุบัน “สุขภาพจิต” ของคนในสังคมเป็นอย่างไรนั้น อาจารย์ ดร.จารุวรรณ สกุลคู สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองถึงสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยในปัจจุบันว่า ปัจจุบันคนเริ่มตื่นตัวและใส่ใจเรื่องของสุขภาพจิตกันมากขึ้น รวมถึงมีคนออกมาพูดถึงปัญหากันมากขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากคนมีความเข้าใจและความรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตและมีการเปิดรับที่มากขึ้น คนกล้าที่จะเข้ามารับการรักษาหรือเข้ามาพูดคุยมากขึ้นด้วย โดยเรามีจำนวนคนที่ไม่ได้ป่วยในปริมาณที่เยอะกว่าคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตจริง ๆ ซึ่งถ้าเปรียบกับ “พีระมิด” ส่วนบนสุดเป็นจุดที่มีคนป่วยจริง แต่คนส่วนใหญ่อยู่ในส่วนฐานล่างยังคงมีสุขภาพจิตดีที่อยู่

          ส่วนปัญหาของความเครียดมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัว หรือบางครั้งอาจมีเหตุการณ์ความผันผวนในชีวิต ความเครียด ความกดดันกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในสังคม ที่ทำให้คนในกลุ่มที่ไม่ได้ป่วยเกิดปัญหาความเครียด อารมณ์เศร้า ความวิตกกังวล กลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้ และถ้าความเครียดเหล่านั้นไม่ได้รับการดูแลรักษาก็อาจนำไปสู่การเป็นโรคทางจิตเวชได้

           นอกจากนี้ สุขภาพจิตในวัยทำงาน เป็นวัยที่มักเจอกับความกดดันในหน้าที่ความรับผิดชอบต่าง ๆ การหาความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ปัจจัยเหล่านี้ก็อาจไปเพิ่มความเครียด และความกดดันด้วยเช่นกัน และยังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนมีปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาทางการเงิน คนตกงานเยอะ รวมถึงการใช้ชีวิตของแต่ละคนที่มีปัจจัยเสี่ยงแตกต่างกัน เช่น การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือเติมโตท่ามกลางความรุนแรง โอกาสในการเข้าถึงสาธารณสุข และการศึกษา สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความอ่อนไหว และก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตได้ แต่ถ้าเราสร้างสังคมที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สังคมเราสร้างได้ก็จะทำให้สุขภาพจิตของคนในสังคมเริ่มดีขึ้น

           “หลาย ๆ คนเข้าใจว่า เมื่อเราเห็นข่าวฆ่าตัวตาย สื่อมักเสนอว่าโรคซึมเศร้าทำให้คนฆ่าตัวตาย คนถูกรังแก โดนบูลลี่ ทำให้ฆ่าตัวตาย บางครั้งมันถูกเสนอออกมาในทิศทางเดียว ซึ่งกว่าคน ๆ นึงจะไปถึงจุด ๆ นั้นได้ มันมีหลายปัจจัยเข้ามากระตุ้นให้ไปถึงจุดนั้น ถ้ามองในมุมกว้าง สังคมเรามีปัจจัยป้องกันที่ค่อนข้างเยอะ เช่น การที่คนในสังคมดูแลกัน คนในสังคมใส่ใจกัน และการที่คนในสังคมเริ่มตื่นตัวว่าปัญหาสุขภาพจิตมีจริง ซึมเศร้าเกิดขึ้นจริง ปัญหาของเด็กวัยรุ่นเป็นเรื่องสำคัญ ก็อาจช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง” อาจารย์ ดร.จารุวรรณ กล่าว

           ความท้าทายของแต่ละช่วงวัย เช่น วัยรุ่น เรื่องของความสัมพันธ์ การค้นหาตัวเอง จุดเปลี่ยนที่ต้องโตเป็นผู้ใหญ่ เราจะเห็นว่าประเด็นเหล่านี้ก็เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดปัญหาด้านการปรับตัว และปัญหาทางสุขภาพจิต คนที่กำลังเข้าสู่วัยที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น วัยทำงาน วัยเกษียณ จะมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ทางสังคม แต่เนื่องจากวัยรุ่นค่อนข้างเข้าใจ และพร้อมที่จะเข้ารับการบริการ เราเลยอาจเห็นตัวเลขของปัญหาซึมเศร้า และวิตกกังวลในวัยรุ่นสูงตามไปด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนในวัยอื่น ๆ จะไม่มีความเสี่ยง หรือไม่ต้องได้รับการใส่ใจ

           อาจารย์ ดร.จารุวรรณ แนะนำว่า “การมาพบนักจิตวิทยา ไม่ต้องรอจนป่วย แค่เรารู้สึกว่ามีเรื่องที่อยากมีคนช่วยคิด หรือบางครั้งเราอยากให้ใครฟัง บางทีเราเจอความยากที่มันกระทบจนกลายเป็นความเครียด ความไม่สบายใจที่มันหนักกว่าปกติ ก็มาพบนักจิตวิทยาได้แล้ว และเราสามารถคุยกับเพื่อน คนรอบตัว คนที่เราไว้ใจ ซึ่งบางทีเราแค่บ่นให้ฟัง เราก็รู้สึกดีขึ้นได้ หรือเรื่องบางเรื่องเราอยากคุยกับคนไกลตัวมากกว่า หรืออยากได้ความเห็นจากคนที่เราไม่รู้จักเลย สามารถคุยกับนักให้คำปรึกษา (Counselors) ได้ หรือบางครั้งไม่ได้มีปัญหา แต่เราอยากพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ใช้ศักยภาพได้ดีกว่าเดิม หรือเราอยากห่างไกลจากการเจ็บป่วย หรืออยากมีสุขภาพจิตเชิงบวกก็สามารถมาพบนักจิตวิทยาได้”

           การสร้างสุขภาพจิตที่ดี ต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน เริ่มต้นใส่ใจ “self-care” การกิน การนอน มีระเบียบวินัยในชีวิตประจำวัน ออกกำลังกาย พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว เพราะเมื่อเกิดความผันผวนหรือความเปลี่ยนแปลงในชีวิต การมีคนรอบข้าง มีเพื่อน หรือคนในครอบครัวนั้น จะช่วยดูแลเราได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีง่าย ๆ ที่เราสามารถทำได้เพื่อเป็นการป้องกัน และดูแลตัวเองเบื้องต้น

           นอกจากนี้ อาจารย์ แพทย์หญิงมุทิตา พนาสถิตย์ รองหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ “โรคทางจิตเวช” ว่าคือ ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับการควบคุมอารมณ์ กระบวนการคิด หรือพฤติกรรม โดยแสดงออกมาทางอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมที่ผิดปกติจนกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน หรือกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากการพัฒนาการของสมองที่ผิดปกติ และความผิดปกติของสารสื่อประสาท รวมถึงปัจจัยทางจิตสังคม เช่น ปัญหาในชีวิต การเลี้ยงดู ลักษณะนิสัย และประสบการณ์ในอดีต เป็นต้น

           ซึ่งโรคทางจิตเวชนั้นมีหลายโรค เช่น กลุ่มโรคจิต (psychotic disorders) ได้แก่ โรคที่มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ความคิดหลงผิด หรือพฤติกรรมแปลก ๆ ที่ไม่สมเหตุผล เป็นต้น กลุ่มโรคนี้ ผู้ป่วยไม่สามารถแยกแยะความจริงได้ ส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าตนเองป่วยด้วยโรคทางจิตเวช ในขณะที่ผู้ป่วยด้วยกลุ่มโรคอื่น ๆ มักจะรู้ตัวว่าตนเองผิดปกติไปจากเดิม เช่น กลุ่มโรคทางอารมณ์ (mood disorders) ได้แก่ โรคซึมเศร้า (depressive disorders) คือ กลุ่มโรคที่มีอารมณ์เศร้าหรือเบื่อหน่ายเป็นส่วนใหญ่ของวัน อย่างต่อเนื่องเกือบทุกวันและนานติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ร่วมกับอาการร่วมอื่น ๆ เช่น การกินและการนอนผิดปกติไป เหม่อลอย ท้อแท้ หมดหวัง ถ้ารุนแรงจะเสี่ยงต่อการคิดอยากตาย และโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorders) จะมีขั้วอารมณ์ครื้นเครง หรือหงุดหงิดมากกว่าปกติ และอาจสลับกับขั้วอารมณ์เศร้าได้ เป็นต้น และยังมีกลุ่มโรควิตกกังวล (anxiety disorders) ที่พบได้บ่อย โดยมีลักษณะของความกังวลใจหรือความกลัวมากเกินไป จนรบกวนชีวิตของตนเอง หรือกลัวจนคุมตัวเองไม่ได้ มีการคิดฟุ่งซ่านไปเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นและเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านไปแล้ว ร่วมกับอาการทางระบบประสาทหรืออาการทางร่างกาย เช่น ใจหวิวสั่น รู้สึกปั่นป่วน ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ โรคที่พบบ่อยในกลุ่มโรคนี้ เช่น โรควิตกกังวลไปทั่ว (generalized anxiety disorder) และโรคตื่นตระหนก หรือแพนิค (panic disorder)

           “ปัจจุบันคนตื่นตัว และมาพบจิตแพทย์เพราะสงสัยว่า ตนเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นโรคนี้ คนทั่วไปอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน ระหว่างอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นเป็นปกติ เมื่อเวลาเราเจอปัญหาชีวิต กับอารมณ์เศร้าที่เป็นอาการโรค เนื่องจากคนทั่วไปมีความรู้สึกเศร้า รู้สึกกลัวและกังวลได้ อารมณ์เหล่านี้เป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต เป็นการทำงานโดยปกติของสมองที่มีหน้าที่ในการทำให้เกิดพฤติกรรม อารมณ์ และความคิดต่าง ๆ แต่เมื่อไรที่แพทย์จะให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหรือเป็นความผิดปกติที่ต้องรับการรักษาก็คือ อาการเหล่านั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงานหรือการเรียน และเราเป็นทุกข์ใจ” อาจารย์ พญ.มุทิตา พนาสถิตย์ กล่าว

           การทำให้เรามี “สุขภาพจิตดี” คือ สุขภาพทั้งกายและใจต้องดีด้วย เนื่องจากการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายสัมพันธ์กับสภาวะของจิตใจ หากร่างกายเจ็บป่วยก็จะทำให้ทุกข์ใจได้ ส่วนการดูแลสุขภาพใจ เริ่มต้นจากในวัยเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของตนเอง (self-esteem) ซึ่งเปรียบเหมือนภูมิต้านทางของจิตใจเมื่อเผชิญปัญหาในชีวิต ถ้าพื้นฐานของชีวิตดี จะมีแนวโน้มว่าสุขภาพจิตจะดี แต่หากว่าชีวิตตั้งต้นมาไม่ราบรื่นนัก สิ่งที่ช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดี คือ การพยายามหาศักยภาพในตัวเองเพื่อใช้ในการจัดการกับวิกฤตในชีวิต การมองและยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น พร้อมกับหาทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม การรู้จักผ่อนคลายความเครียดด้วยกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ก็จะช่วยให้ส่งเสริมสุขภาพจิตได้