Loading...

เมื่อโครงสร้างประชากรโลกเปลี่ยน เราจะทำอย่างไร?

 

จำนวนประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น นับเป็นประเด็นหลักของทั่วโลก ยังมีงานศึกษาในสหรัฐฯ ที่พบว่าการดูแลรักษาผู้สูงวัยในช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิต จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงด้วย

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2562

  

Designed by rawpixel.com / Freepik

          จำนวนประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น นับเป็นประเด็นหลักของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และคาดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้สูงวัยในประเทศไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 25 นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาที่พบว่า การดูแลรักษาผู้สูงวัยในช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิต จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงกว่าการรักษาพยาบาลตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุสูงวัย

          ศาสตราจารย์ ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า รูปแบบโครงสร้างของประชากรในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ เรามีจำนวนประชากรผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอายุไขของมนุษย์เพิ่มขึ้น ประกอบกับอัตราการเกิดในแต่ละประเทศ รวมถึงในประเทศที่พัฒนาแล้วมีอัตราการเกิดต่ำ หากเปรียบกับพีระมิดที่เป็นสามเหลี่ยมนั้น ในช่วงก่อนหน้านี้ บริเวณฐานคือ กลุ่มอายุน้อยวัย ส่วนด้านบนที่เป็นยอดสามเหลี่ยมคือ กลุ่มผู้สูงวัย ที่มีพื้นที่น้อย แต่ในปัจจุบันนี้ด้านบนจะโปร่งมากขึ้น ส่วนด้านล่างจะน้อยลง เพราะฉะนั้นรูปแบบของประชากรโลกจึงเปลี่ยนไป

          ปัญหาที่เราจะพบคือ ใครจะเป็นผู้ดูแลผู้สูงวัย? เพราะเมื่อมีลูกน้อยลง อัตราการเกิดก็จะน้อยลง โครงสร้างของครอบครัวเปลี่ยน เพราะฉะนั้น สถานเลี้ยงดูผู้สูงวัยต้องมีการวางแผนเพื่อรองรับจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสังคมด้วยว่าจะอยู่อย่างไร ผู้สูงวัยมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ดูแลผู้สูงวัยก็จะเป็นผู้สูงวัยเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง ปู่ ย่า ตา ยาย อายุ 90 - 100 ปี พ่อแม่เราก็อายุ 60 - 70 ปี กลายเป็นว่า “ผู้สูงวัยต้องดูแลผู้สูงวัย”

 

Designed by tirachardz / Freepik

          สิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักถึงคือ หากเราดูในเรื่องของเศรษฐกิจ เมื่อเราเริ่มมีประชากรที่อยู่ในวัยทำงานน้อยกว่าประชากรสูงวัย เรื่องของภาษีที่เข้ามาจะลดลง สวนทางกับกลุ่มผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นและเกษียณจากงานแล้วที่รัฐมีบำเหน็ดบำนาญ ผู้สูงวัยมีอายุไขมากขึ้น การเลี้ยงดูผู้สูงวัยจึงมีจำนวนปีที่มากขึ้น ทำให้แต่ละประเทศต้องให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจว่า เราจะช่วยพยุงผู้สูงวัยได้อย่างไร รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูงด้วย ฉะนั้นงบการรักษาพยาบาลต้องเพิ่มมากขึ้น และที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ หรือป้องกันการเจ็บป่วยให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดี

          นอกจากจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่เกี่ยวโยงกับประชากรยังมีในเรื่องของปัญหาความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security เพราะประชากรโลกในขณะนี้มีราว 6 - 7 พันล้านคน เราจะนำอาหารที่ไหนมาบริโภค ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของขยะที่มากขึ้น และอัตราการใช้พลาสติกก็มากขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลต่อไปที่เรื่องของ Climate Change รวมถึงภาวะโลกร้อน ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนโซ่ที่ผูกพันกัน ไม่ได้เป็นปัญหาเดียว แต่เป็นปัจจัยหลาย ๆ ปัจจัยรวมกัน