Loading...

บทบาทมหาวิทยาลัยกับการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาชาติ

 

งานวิจัยแอบแฝงอยู่ในทุก ๆ ภาคส่วน จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นรากฐานของการสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ

วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ.2563

  

          ถ้ามองให้ลึกลงไปในสมาร์ทโฟน 1 เครื่อง คุณจะพบว่ามีงานวิจัยนับร้อยชิ้นซ่อนอยู่ ตั้งแต่ดีไซน์อันเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน รูปโฉมที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึก ชิ้นส่วน Hardware ตลอดจนหน้าจอ Touch Screen ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งระบบปฏิบัติการที่พร้อมตอบสนองในเสี้ยววินาที

          ถ้าคุณมองเข้าไปในรถยนต์ 1 คัน หรือเฉพาะเจาะจงไปที่ยางรถยนต์เพียง 1 เส้น นั่นก็เต็มไปด้วยงานวิจัยจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะการแสวงหาวัสดุที่เหมาะสม อัตราส่วนการผสมที่สอดคล้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งความคงทน ความยืดหยุ่น รวมไปถึงเส้นสายลวดลายที่สัมพันธ์กับการเกาะถนน ทั้งหมดตั้งต้นมาจากงานวิจัยทั้งสิ้น

          ฉะนั้น งานวิจัยจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นรากฐานของการสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ

          ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ประโยชน์สูงสุดของงานวิจัยคือการนำมาใช้แก้ไขปัญหาของประเทศ ทั้งปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการคำตอบอย่างรวดเร็ว เช่น ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมไปถึงปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้หลากหลายด้านประกอบกัน

          เมื่อพูดถึงงานวิจัย แน่นอนว่าความคาดหวังของสังคมจะพุ่งตรงมายังมหาวิทยาลัยในฐานะแหล่งรวมนักวิจัย นักวิชาการ และองค์ความรู้จำนวนมาก ดังนั้นมหาวิทยาลัยทุกแห่งจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาของประเทศ

          “งานวิจัยบางชิ้นอาจถูกมองว่าเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่จริง ๆ แล้วงานวิจัยเหล่านั้นเปรียบได้กับจิ๊กซอว์ ที่จะนำไปประกอบกับองค์ความรู้อื่น ๆ เพื่อให้เกิดเป็นภาพใหญ่ ในการแก้ไขปัญหาประเทศ” อาจารย์ศิริวรรณ ระบุ

          สำหรับบทบาทของมหาวิทยาลัยที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาประเทศผ่านงานวิจัย อาจารย์ศิริวรรณ ยกตัวอย่างถึงผลงานจากสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่เป็นจุดแข็งของธรรมศาสตร์ โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา มีอาจารย์ 3 ท่าน ที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ โดยหนึ่งในนั้นคือผลงานเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ซึ่งที่สุดแล้วรัฐบาลสามารถหยิบยกไปศึกษาต่อ เพื่อนำมาจัดทำเป็นมาตรการและนโยบายในการแก้ปัญหาต่อไปได้

          ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ อธิบายว่า การทำงานวิจัยให้ประสบผลสำเร็จ อย่างน้อยต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจาก 4 ภาคส่วนที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. มหาวิทยาลัย ในฐานะแหล่งรวมบุคลากรและองค์ความรู้  2.  รัฐบาล ซึ่งอาจเป็นทั้งผู้กำหนดโจทย์การวิจัยจากปัญหาของประเทศ และผู้สนับสนุนงบประมาณวิจัย 3. ภาคธุรกิจ ที่งานวิจัยและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยหนุนเสริมและแก้ไขปัญหา และ 4. ชุมชน ที่เป็นภาพสะท้อนของรากปัญหาที่แท้จริง ฉะนั้นงานวิจัยจำเป็นต้องลงไปรับชุมชน

          “ยกตัวอย่างอาจารย์ภาคสังคมสงเคราะห์ของธรรมศาสตร์ ที่ได้ลงไปวิจัยเพื่อสร้างโมเดลให้ชุมชน ๆ หนึ่งใช้แก้ไขปัญหา และโมเดลนั้นได้กลายเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น ๆ นำไปปรับใช้ได้ด้วยเช่นกัน ตรงนี้เท่ากับเป็นการนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย เข้าไปจัดกระบวนการให้ชุมชนสามารถจัดการตัวเองได้”         อาจารย์ศิริวรรณ ระบุ

          แน่นอนว่า เพื่อให้เกิดงานวิจัยที่มีคุณภาพจำเป็นต้องใช้ทั้งกำลังคนและงบประมาณ ซึ่งในบริบทของประเทศไทยที่งบประมาณมีจำกัด หรืองบประมาณถูกจัดสรรไปใช้ในเรื่องที่รัฐบาลมองว่ามีความสำคัญกว่า ทำให้งบสำหรับการทำงานวิจัยค่อนข้างน้อย

          อย่างไรก็ดี ภายใต้ข้อจำกัดนี้ใช่ว่าการวิจัยจะต้องหยุดชะงักตามไป เพราะในความเป็นจริงแล้วมหาวิทยาลัยยังสามารถหางบประมาณหรือทุนวิจัยจากกระบวนการอื่น ๆ ได้ เช่น การที่มหาวิทยาลัยจับมือร่วมกับภาคเอกชนในลักษณะ Co-funding เพื่อทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์กับทั้งภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ

          “อย่างธรรมศาสตร์ เราให้ความสนใจเรื่อง Sustainability หรือความยั่งยืน เรามีศักยภาพทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน เราเป็นมหาวิทยาลัยที่มีโซลาร์รูฟใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นี่เป็นอีกจุดแข็งของเรา ดังนั้นเราจึงพัฒนาและต่อยอดจุดแข็งนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เช่น ในอนาคตอันใกล้นี้เราจะทำงานวิจัยร่วมกับ ปตท. เรื่อง Smart city ในลักษณะ Co-funding” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ยกตัวอย่าง

          นอกจากความร่วมมือกับภาคเอกชนแล้ว แหล่งทุนจากต่างประเทศก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่โจทย์วิจัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญระดับโลก เต็มไปด้วยความหลากหลาย ความท้าทาย นำไปสู่การให้ความสำคัญของแหล่งทุนต่างประเทศ

          ตัวอย่างเช่น ทุนวิจัย Newton Fund ของสหราชอาณาจักร ที่ต้องการให้นักวิจัยจากประเทศอังกฤษมาทำงานร่วมกับนักวิจัยประเทศอื่น ๆ หรือธรรมศาสตร์อย่างที่ทุกวันนี้ได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยต่างประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลก ภายใต้ทุน Bualuang ASEAN Chair Professorship ที่ธนาคารกรุงเทพสนับสนุนในลักษณะ Co-funding เช่นกัน

          อาจารย์ศิริวรรณ อธิบายว่า ทุนนี้จะให้แก่นักวิจัยต่างชาติเพื่อทำงานร่วมกับนักวิจัยของธรรมศาสตร์ โดยปีที่ผ่านมาให้ได้ไปแล้ว 30 ทุน ทุนละ 1.5 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ประเทศไทยจะมีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญมากถึง 30 ท่าน พร้อมด้วยเครือข่ายของเขา เข้ามาทำงานร่วมกับนักวิจัยของประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศและภูมิภาค

          “ทุน Bualuang ASEAN Chair Professorship เป็นทุนที่ไม่ได้จำกัดว่านักวิจัยต้องทำประเด็นหรือโจทย์อะไร ขึ้นอยู่กับความถนัดของอาจารย์แต่ละท่าน แต่ก็ยังมีแหล่งทุนอีกมาก ที่สามารถโฟกัสโจทย์การวิจัยได้ ฉะนั้นถ้าเราพลิกมุมมองใหม่ ก็จะพบว่าที่ตั้งของประเทศไทยคือโอกาสอันดีที่แหล่งทุนอยากสนับสนุน ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีนักวิจัย นักวิชาการที่พร้อมอยู่แล้ว ส่วนตัวคิดว่านี่คือโอกาสของทุกมหาวิทยาลัย” ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ ระบุ

          การทำวิจัยและการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศหรือในแง่ของภาคธุรกิจเอกชน นับเป็นการให้บริการทางวิชาการ ซึ่งนับเป็นภารกิจหนึ่งของอาจารย์นอกเหนือจากการสอนและสร้างบัณฑิต

          สำหรับธรรมศาสตร์ เราส่งเสริมและให้โอกาสอาจารย์ทำเรื่องนี้ เพราะที่สุดแล้วผลประโยชน์จะย้อนกลับมาที่มหาวิทยาลัย ตั้งแต่การเสริมศักยภาพอาจารย์ ความเท่าทันยุคสมัยและสังคม เหล่านี้คือองค์ความรู้ที่จะนำกลับมาถ่ายทอดให้นักศึกษา เมื่อบัณฑิตมีคุณภาพ ประเทศชาติก็จะมีคุณภาพตามไปด้วย

          “ทิศทางของธรรมศาสตร์ หลังจากนี้ เราจะเน้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยจะสนับสนุนให้อาจารย์ทำวิจัยและตีพิมพ์งานวิจัยให้มากขึ้น และงานเหล่านั้นต้องมีคุณภาพในระดับ International level ส่วนประเด็นที่จะส่งเสริม คือประเด็นที่ตอบโจทย์สังคม ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำ ผู้สูงอายุ การแพทย์ สมุนไพร วิศวกรรมศาสตร์ การขนส่ง เกษตรและอาหาร” ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ ให้ภาพอนาคตของมหาวิทยาลัย

          อาจารย์ศิริวรรณ ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อคนมองมาที่ธรรมศาสตร์ก็จะมองที่บทบาทต่อสังคม ฉะนั้นในแง่ของการวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นวิจัยที่อยู่คู่กับสังคม กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตาม สุดท้ายแล้วต้องเพื่อสังคม