Loading...

ครบรอบ 87 ปี ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ โควิด-19 บทพิสูจน์ ‘มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เพียงเติบโตและแข็งแกร่งไปตามวันเวลา หากแต่ยังพบความเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะผ่านความท้าทายอีกกี่ครั้ง เราต้องยืนหยัดเพื่อประชาชน

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2564

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในชื่อ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ตามแนวคิดของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการสถาปนามหาวิทยาลัยที่เน้นไปที่การเรียนการสอนเรื่อง “ประชาธิปไตย” ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อสองปีก่อนหน้า

     มีการตั้งคำถามกันมากถึงสาเหตุที่อาจารย์ปรีดีเลือกที่จะสถาปนามหาวิทยาลัยขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน แทนที่จะเป็นวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิถุนายน 2475) โดยมีการบันทึกเหตุผลของ ศ.ดร.ปรีดี ไว้ว่า อาจารย์ปรีดีไม่ได้ต้องการที่จะยกย่องตนเองและพวกพ้องที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ประสงค์จะยกย่องประชาชนที่ได้กลายเป็นเจ้าของประเทศ

     วันที่ 27 มิถุนายน 2475 เป็นวันที่พระราชาทรงมอบอำนาจสูงสุดของประเทศให้กับราษฎรทั้งหลาย ด้วยการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญฉบับแรก” ถัดจากนั้นอีกสองปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงก่อกำเนิดขึ้น และสามารถข้ามผ่านกาลเวลาอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเรื่อยมาจนปัจจุบัน

     ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในปี 2564 ซึ่งธรรมศาสตร์จะมีอายุ 87 ปี หากเทียบชีวิตคนก็อยู่ในวัยที่ชรา แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยกลับพบว่ายิ่งนาน ก็จะยิ่งแกร่ง ยิ่งเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะการทำงานของธรรมศาสตร์ในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นถึงปณิธาน อุดมการณ์ และประสบการณ์ ในฐานะที่เป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน” ซึ่งจะอยู่คู่กับประชาชนและประเทศไทยสืบต่อไป

     “นักศึกษาของธรรมศาสตร์ได้รับการปลูกฝังให้คิดถึงประชาชน และทำประโยชน์เพื่อสังคมเสมอ ในสถานการณ์ที่ทุกคนทั่วโลกได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ในชั้นแรกผู้คนอาจคิดถึงตัวเองเป็นหลัก แต่ด้วยจิตสำนึกและคุณธรรมที่ได้รับการปลูกฝัง เชื่อว่าชาวธรรมศาสตร์จะคิดถึงการแบ่งปัน การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยาก และทำตามอุดมการณ์ที่หล่อหลอมความเป็นธรรมศาสตร์เสมอมา” ศ.พิเศษ นรนิติ ระบุ

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตลอด 87 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำรงตนอยู่ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย นับเป็นที่มั่น และเป็นความมั่นใจให้กับประชาชนทั่วไปเสมอ ทั้งในแง่ของการผลิตความรู้และบัณฑิตเพื่อรับใช้สังคม และการสนับสนุนรัฐบาลเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

     รศ.เกศินี ระบุว่า การร่วมแรงร่วมใจ ความอุตสาหะ และจิตใจที่เสียสละ ของประชาคมธรรมศาสตร์ทุกคนทุกภาคส่วน จากการทำงานในช่วงโควิด-19 เพื่อร่วมสู้วิกฤตชาติไปพร้อม ๆ กับประชาชนคนไทยทุกคน คือประจักษ์พยานที่ดีที่สุด ที่ยืนยันการดำรงอยู่ของอุดมการณ์ธรรมศาสตร์ ในฐานะอุดมการณ์ที่มีชีวิต ซึ่งจะได้รับการสืบสานต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

     สำหรับงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2564 ซึ่งตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน 2564 นั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประกาศมอบ “รางวัลเข็มเกียรติยศ” ให้กับผู้ที่ประกอบคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ รางวัล “กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” “ครูดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 6 ท่าน

     “รางวัลเข็มเกียรติยศ” ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีโอกาสได้รับรู้และภูมิใจกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของศิษย์เก่าจำนวนมาก ที่เป็นทั้งผู้มีบทบาทและสร้างผลงานที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงกว้าง รวมถึงการอุทิศตนสร้างประโยชน์ให้กับสังคมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ผู้ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ดร.อาษา เมฆสวรรค์

     “กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ประจำปี 2564 จำนวน 1 ท่าน ได้แก่ ศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในสาขามนุษยศาสตร์ ซึ่งตลอด 27 ปีของการทำงานในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ศ.ดร.วัชระ ได้ทุ่มเทให้กับการสอนในสาขาวิชาที่ถือว่าท้าทายและถูกทดสอบด้วยบริบทของสังคมมาโดยตลอด เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยน ความคาดหวังหรือความสนใจในเรื่องของวิชาปรัชญาและพุทธศาสนาก็เปลี่ยนไปจากเดิม

     แต่ด้วยความศรัทธาในการทำงานที่ ศ.ดร.วัชระ ได้ย้ำเสมอว่า “งานคือการพัฒนาและขัดเกลาตนเอง” ทำให้ผลงานด้านปรัชญาและพุทธศาสนาที่อาจารย์ค้นคว้าหาความรู้มาตลอดชีวิต ยังคงเป็นที่พึ่ง และตอบคำถามสำคัญให้กับสังคม ชี้แนะในทางที่ถูกเพื่อเป็นหลักให้กับสังคมที่กำลังมุ่งไปผิดทิศผิดทาง

     ในส่วนของ ครูดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งเป็นผู้มีพลังความมุ่งมั่นในการสอนและอบรมบ่มวิชาให้กับลูกศิษย์อย่างน่าชื่นชม มีความเสียสละ มีจริยธรรมและเมตตาธรรม เป็นแบบอย่างความเป็นครูที่ดี โดยในปี 2564 มีผู้ได้รับรางวัล 4 ท่าน ได้แก่

  1. ผศ.ดร.อรพรรณ ยลระบิล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ครูดีเด่นสาขาสังคมศาสตร์

  2. ผศ.ดร.ปัทมา สัปปพันธ์ สถาบันภาษา ครูดีเด่นสาขามนุษยศาสตร์

  3. รศ.ดร.ประภาศรี เทพรักษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครูดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

  4. รศ.ดร.ภญ.อรลักษณา แพรัตกุล คณะเภสัชศาสตร์ ครูดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

     นอกเหนือจากบุคลากร-คณาจารย์แล้ว  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้ให้ความสำคัญกับศิษย์เก่าที่ได้สำเร็จการศึกษาออกไปทำงานรับใช้สังคมและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย จึงได้ยกย่องให้เป็นผู้ได้รับโล่เกียรติยศ รวมทั้งสิ้น 62 ราย

     ประกอบด้วย “โล่เกียรติยศ ประเภทศิษย์เก่าดีเด่น” ได้แก่ 1. น.ส.กรณิศ ธนสุนทรกิจ 2.รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กฤษฎา เสกตระกูล 3. นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี 4. นายขจิต ชัชวานิชย์ 5.นางจินตนา จันทร์บำรุง  6. ดร.จีระวัฒน์ ลีนะกนิษฐ์  7. นางฉัตราภรณ์ ชาญเชาว์ 8. นายชนธัญ แสงพุ่ม 9. นายเชาวรัตน์ เชาวน์ชวานิล 10. นายโชติพัฒน์ พีชานนท์

     11. น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ 12. นายญาณวิทย์ รักษ์ศรี 13. นายฐากร ปิยะพันธ์ 14. นางณัฐวดี ณ มโนรม 15. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ สุวรรณทิพย์ 16. นายดามพ์ บุญธรรม 17. นายทรงพล ใจกริ่ม 18. ศาสตราจารย์ ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง 19. นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร 20. นายธีระ อนันตเสรีวิทยา

     21. นายนริศ เชยกลิ่น 22. พันเอก (พิเศษ) ดร.นายแพทย์ ประทิน นาคชื่น 23. นายประภัตร โพธสุธน 24. นายปัญญา ปุลิเวคินทร์ 25.พลตำรวจเอก ดร.ปิยะ อุทาโย 26. นางพรพิศ เพชรเจริญ 27. นายพีรศุทธิ์ บัณฑราภิวัฒน์ 28. นายพุทธพร อิ้วตกส้าน 29. ดร.เภา บุญเยี่ยม 30. นางเมทินี ชโลธร

     31. นายรังสรรค์ ตันเจริญ 32. น.ส.รุจิเรศ นีรปัทมะ 33. น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ 34. นายวราวุธ เจนธนากุล 35. นายวิชัย อินทรนุกูลกิจ 36. นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล 37. นางศรัญญา พุทธารี 38. น.ส.สราญภัทร อนุมัติราชกิจ 39. นางสุนี ไชยรส 40. นายสุภัทร จำปาทอง

     41. นางสุภาพร เจียรทัศนประกิต 42. นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ 43. นายอนุกูล ปีดแก้ว 44. นายอนุชา นาคาศัย 45. นางอรวดี โพธิสาโร 46. ผศ.อัมพร กิจงาม 47. น.ส.อุศณา พีรานนท์

     “โล่เกียรติยศ ประเภทผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัย” ได้แก่ 1. รองศาสตราจารย์กิตติ  สิริพัลลภ 2. นายจรง เจียมอนุกูลกิจ 3. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.เฉลิม วราวิทย์ 4. นางธนภร คาวีวงศ์ 5. นายนคร ชูสอนสาย 6. ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ 7. รศ.ดร.พญ.พัชรา วิสุตกุล 8. นายไมตรี จงไกรจักร 9. รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ 10. นางศศมน หวังมงคลเลิศ

     11. นายศุภชัย สุกาญจนาภรณ์ 12. นางสุนทรี จรรโลงบุตร 13. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 14. สมาคมศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 15. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS)