Loading...

‘วิทยาลัยโลกคดี มธ.’ จัดโครงการ 2024 LKYSPP – in – Asia สร้างความร่วมมือข้ามวัฒนธรรม

วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการ 2024 LKYSPP – in – Asia เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านความพยายามในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568

     วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดโครงการ 2024 LKYSPP – in – Asia เพื่อพัฒนาทักษะการสร้างความร่วมมือข้ามวัฒนธรรมและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศให้กับนักศึกษาของวิทยาลัยนโยบายสาธารณะ ลี กวน ยู (Lee Kuan Yew School of Public Policy - LKYSPP) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

     โดยต้อนรับนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขานโยบายสาธารณะ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสาขาบริหารสาธารณะ รวม 162 คนจาก 20 ประเทศ พร้อมด้วยคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ระหว่างวันที่ 2-6 ธันวาคม 2567 และระหว่างวันที่ 6-10 มกราคม 2568

     โครงการ 2024 LKYSPP – in – Asia เป็นโครงการเสริมสร้างความรู้ด้านความพยายามในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของภาคประชาสังคมและการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน พร้อมกับพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม การวิเคราะห์ปัญหาที่ซับซ้อน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ นำไปสู่การพัฒนาความสามารถทางวิชาชีพและภาวะผู้นำ

     “...โครงการนี้จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างทฤษฎีทางวิชาการและการแก้ปัญหาในโลกแห่งความจริง โดยเน้นความสำคัญของการร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน...” ผศ. ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา กล่าวเปิดงาน

     โดยมีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การบริหาร และนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทย จากคณาจารย์ของวิทยาลัยโลกคดีศึกษา พร้อมเยี่ยมชม UN-ESCAP เพื่อเรียนรู้พันธกิจและการดำเนินงานขององค์กรในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วเอเชียและแปซิฟิก

     เยี่ยมชมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อเรียนรู้นวัตกรรมการพัฒนาองค์กรชุมชนและชุมชนให้เข้มแข็ง รวมทั้งได้เยี่ยมชมโครงการบ้านมั่นคงในแขวงวังทองหลาง ซึ่งเป็นโครงการย้ายคนจากชุมชนแออัดมาอยู่ในชุมชนใหม่ที่มีสภาพบ้านและสิ่งแวดล้อมสวยงาม ถูกสุขลักษณะ บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยชาวบ้านรวมกันกู้เงินจาก พอช. มาสร้างบ้านกันเอง เกิดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและสังคมใหม่ที่ดูแลกันและกัน และเยี่ยมชมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อศึกษายุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพของประเทศ และโครงการส่งเสริมสุขภาพชุมชนโดยชุมชน

     นอกจากนี้ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา ร่วมกับ พอช. หน่วยราชการในจังหวัดชัยนาท รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายองค์กรชุมชนต่าง ๆ จัดการศึกษาดูงานในพื้นที่ 3 ตำบลที่มีผลงานด้านการพัฒนาแตกต่างกัน ได้แก่ 1) ตำบลหาดอาษา อำเภอสรรพยา เป็นพื้นที่ที่จัดการปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างดี ชุมชนและผู้นำในพื้นที่ องค์กรชุมชนต่าง ๆ และเครือข่าย ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมมือกันจัดระบบดูแลชาวบ้านทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังน้ำท่วม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   2) ตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมือง เป็นพื้นที่ที่มีผลงานแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของคนจน ผสมผสานกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อาชีพ สังคม ไปในเวลาเดียวกัน โดยอาศัยพลังชุมชนเป็นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทพัฒนาชุมชนของตน และ 3) ตำบลห้วยงู อำเภอหันคา ที่มีการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนแบบใหม่ เรียกว่า “บริษัทสร้างสุขตำบลห้วยงู” ร่วมกันดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและครอบครัว โดยใช้นวัตกรรมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่และภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการปรับสถานที่สาธารณะ ระบบขนส่ง สภาพบ้านของผู้สูงอายุให้สะดวกและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง และผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสังคม ฯลฯ จนได้รับการยกย่องให้เป็นตัวอย่างด้าน “ชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ” ขององค์การอนามัยโลก

     พร้อมกันนั้น วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มีแผนยกระดับความร่วมมือกับ พอช. ในการทำให้พื้นที่จังหวัดชัยนาท และการทำงานขององค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรที่เข้มแข็ง เป็น “ห้องปฏิบัติการสังคม” สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการวิจัย การเรียนการสอนภาคสนาม การบริการวิชาการแก่สังคม (ด้านการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ผู้นำ และพัฒนาระบบและเครื่องมือสำหรับการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นำไปสู่การพัฒนาที่ตรงเป้าและยั่งยืน) รวมทั้ง การออกแบบทำให้พื้นที่เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับการศึกษาด้านความยั่งยืนและนวัตกรรมการพัฒนาสำหรับนักศึกษา นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานจากนานาชาติต่อไป

     โดยกิจกรรมในครั้งนี้ นักศึกษาของวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การผลิตคลิปวิดีโอแนะนำหน่วยงานและพื้นที่ดูงาน รวมทั้งเป็นล่ามในระหว่างการสัมภาษณ์คนในพื้นที่ด้วย โดยมี ผศ. ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา และ ผศ. ดร.เชค โมฮัมหมัด อัลตาฟูร์ เราะห์มาน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญตรงกับโครงการฯ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ