Loading...

PDPA กับภาพถ่าย ฉบับคนหลังกล้อง สรุปแล้วเราต้องเบลอขนาดไหน?

สังคมตื่นตัวกับ PDPA จนเกิดกระแสการเบลอภาพ  สรุปแล้วเราถ่ายรูปและเผยแพร่ได้ขนาดไหนภายใต้กฎหมายฉบับนี้

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2565

     PDPA หรือ “พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562” เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ทำให้สังคมตื่นตัวและเกิดข้อสงสัยถึงการตีความและนำไปใช้ โดยเฉพาะในเรื่องของภาพถ่าย ว่าสามารถถ่ายรูปติดผู้อื่น และเผยแพร่ได้ขนาดไหน จนเป็นกระแสการเบลอภาพบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ตัวเรา กลายเป็นมุกตลกที่ขำไม่ออกหากความเข้าใจผิดเหล่านี้ยังคงส่งต่อกันไป

     แล้วเราถ่ายรูปและเผยแพร่ได้ขนาดไหนภายใต้กฎหมาย PDPA  วันนี้เรามาพูดคุยกับคนหลังกล้องอย่าง ผศ.กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ผศ.กานตชาติ อธิบายว่า PDPA คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นกฎหมายที่ออกมาช่วยปกป้องข้อมูลของเราให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ในเรื่องของ PDPA กับภาพถ่าย จริง ๆ แล้ว มันไม่ได้เป็นปัญหาขนาดนั้น เราสามารถที่จะถ่ายรูปได้ตามปกติ เพราะว่าตัวกฎหมายนี้ เจตนารมณ์ของมันไม่ได้มากำกับการถ่ายรูปของเรา เขาไม่ได้มาเพื่อห้ามถ่าย แต่มาเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้ก็คือ เราเอาคำว่า security หรือว่า ความปลอดภัย กับ privacy หรือว่า ความเป็นส่วนตัว เข้ามาปนกัน จนกระทั่งเกิดความไม่เข้าใจ เกิดความสับสนต่าง ๆ  

     กฎหมายไม่ได้มีเจตนาห้ามถ่ายรูป เราจะเห็นว่ามีข้อยกเว้นมากมาย ตัวอย่างเช่น มาตรา 4 (1) เรื่องของการใช้ประโยชน์ส่วนตัว หมายความว่าเราถ่ายรูปกับเพื่อน พี่น้อง ครอบครัวได้ สามารถถ่ายติดคนอื่นก็ได้ แต่ต้องระวังว่าบุคคลนั้นในภาพเราเขาเสื่อมเสียหรือไม่ เขาได้รับผลกระทบอะไรต่าง ๆ รึเปล่า หรือที่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น เช่น มาตรา 24 (5) ในเรื่องของการได้มาโดยชอบธรรม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราถ่ายรูปในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นที่ไม่อาจคาดหมายความเป็นส่วนตัวได้ นี่ก็ถือว่าเป็นประโยชน์โดยชอบธรรม แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องระวังในเรื่องของการทำให้คนที่อยู่ในภาพเสื่อมเสีย เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลอะไร ไม่ต้องเบลอขนาดนั้นก็ได้ สำหรับการใช้งานทั่วไป

     ผศ.กานตชาติ กล่าวถึงการใช้งานภาพถ่ายเชิง Commercial หรือเชิงพาณิชย์ ว่าจะต้องคิดให้มากขึ้นถึงเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ในการใช้ประโยชน์จากหน้าตา หรือข้อมูลบุคคลอื่นเกินควร ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ที่ไม่อาจคาดหมายความเป็นส่วนตัวได้ มันเป็นการได้มาโดยชอบธรรม คนไม่ได้เด่นมาก อาจจะปรากฏตัวไม่กี่วินาที ไม่ได้มีผลกระทบขนาดนั้น ในภาพนั้นเราอาจจะยังพอถ่ายติดเขาได้บ้าง แต่ถ้าเริ่มปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเป็นส่วนสำคัญของภาพ ก็อาจจะต้องมีการพูดคุย การขอ เรื่องของการยินยอมของบุคคลที่อยู่ในภาพ หากยังไม่สามารถตกลงกันได้ บุคคลในภาพเกิดความไม่สบายใจการเบลอถึงค่อยเข้ามา แต่ต้องย้ำว่ากฎหมาย PDPA ไม่ได้บอกว่าต้องเบลอ การเบลอนี้เป็นมารยาทที่เพิ่มเติมเข้ามามากกว่า ที่ทำแล้วเราสบายใจ หรือทำให้คนที่อยู่ในภาพถ่ายหรือพื้นที่นั้นสบายใจด้วย

     “การขอการยินยอม กฎหมายไม่ได้ระบุเสียทีเดียวว่าจะต้องขอเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อยกเว้นอยู่ว่าในกรณีที่ไม่สามารถทำได้ก็สามารถใช้วิธีการอื่น แต่ในกรณีที่เป็นข้อมูลอ่อนไหว (sensitive data) ก็ต้องเป็นการขอแบบลายลักษณ์อักษร ข้อแนะนำก็คือ สำหรับงานที่เป็นงานเชิงการค้า ถ้าขอเป็นลายลักษณ์อักษรได้ก็ควรขอ ซึ่งมันไม่ได้จำเป็นเสมอไป แต่ถ้าทำได้ก็จะปลอดภัยที่สุดและดีที่สุด” ผศ.กานตชาติ กล่าวเพิ่มเติม

     เรื่องบทลงโทษของ PDPA กับภาพถ่าย ผศ.กานตชาติ อธิบายว่า กรณีเมื่อเราเผยแพร่ภาพถ่ายไปแล้ว เกิดข้อผิดพลาดขึ้น เกิดการร้องเรียน ซึ่งเราจะเห็นข้อมูลว่าทุกคนพูดถึงบทลงโทษทางปกครอง ว่าจะต้องปรับเท่าไหร่ หรือมีโทษอย่างไร แต่จริง ๆ แล้ว เวลาที่เกิดปัญหาในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล มันไม่ได้จบที่การลงโทษทางปกครองแต่แรก ถ้าเราไปดูกฎหมายลูกจะเห็นว่ามีกรรมการผู้เชี่ยวชาญจะทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ย และแก้ปัญหาก่อนเสมอ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกังวล ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติถ้าเราถ่ายรูปติดคนอื่นแล้ว คนที่ติดเขาไม่โอเค เขามาขอให้เราลบ แล้วเราสมัครใจที่จะลบ ก็ถือว่าจบปัญหา

     โทษทางปกครองนั้นออกมาเพื่อกรณีที่เป็นกรณีใหญ่ๆ ซึ่งมันตรงไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายคือความปลอดภัยของข้อมูล เช่นการถูก Hack หรือการที่เบอร์โทรศัพท์ของเรารั่วไหลออกไป กฎหมาย PDPA จะเข้ามาช่วยคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในเรื่องแบบนี้มากกว่า

     ผศ.กานตชาติ เผยถึงการทำงานของสื่อมวลชน กับ PDPA ว่า พ.ร.บ.ตัวนี้ไม่ได้มีผลต่อการทำงานของสื่อมวลชนโดยตรง จะเห็นในมาตรา 4 (3) ที่มีการยกเว้น กิจการสื่อสารมวลชน งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรม ที่เป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพนั้นๆ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะฉะนั้นถ้าสื่อมวลชนทำงานด้วยมาตรฐานจริยธรรม เราก็ไม่ต้องกังวลกับ PDPA

     สุดท้ายจากข้อสงสัยในสังคมที่ว่า PDPA เป็นกฎหมายที่ออกมาควบคุมหรือคุ้มครองข้อมูลกันแน่ ผศ.กานตชาติ กล่าวว่า ทุกคนในสังคมตอนนี้ต้องย้ำเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ได้ออกมาเพื่อควบคุม แต่เป็นกฎหมายที่มาคุ้มครองข้อมูล เป็นเรื่องของ security ไม่ได้เป็นเรื่องของ privacy เพราะถ้าเป็น privacy เรามีกฎหมายตัวอื่นหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นการละเมิด การหมิ่นประมาท ซึ่งเราต้องไปพิสูจน์กันว่ามันทำให้เสื่อมเสีย มันละเมิด ไม่อย่างนั้นกฎหมายตัวนี้หากถูกนำมาใช้ผิดจากเจตนารมณ์ ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นเครื่องมือควบคุมจริง ๆ ก็ได้

     “PDPA สำหรับมุมมองในการถ่ายรูปมันอาจจะเป็นกฎหมายที่ทำให้เรามีมารยาทในการถ่ายรูป หรือคิดถึงคนอื่นมากขึ้น มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นในแง่การใช้งานเพื่อการค้า แต่กฎหมายตัวนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อห้ามถ่ายรูป” ผศ.กานตชาติ เน้นย้ำ