‘TIARA’ และโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต จัดกิจกรรม Yoga Day ‘FIT & FLOW’ ส่งเสริมสุขภาพกายและใจให้ประชาคมธรรมศาสตร์
ศูนย์อินเดีย สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมเนื่องในวันโยคะสากล
วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2567
ศูนย์อินเดีย สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมวันโยคะสากล “FIT & FLOW: Thammasat International Yoga Day” เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ณ อาคารเรียนรวมสังคม 3 (SC3) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์สุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การดูแลสุขภาพทางกายและสุขภาพทางใจมีหลากหลายวิธีให้เลือกตามความต้องการ มีความแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มวัย แต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านการพิสูจน์ทางคลินิก หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพ โดยการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีนั้น ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น จากประชาชนเกือบทุกเพศ ทุกวัย กิจกรรมในการออกกำลังกายมีความหลากหลายให้เลือกตามความต้องการ เช่น การออกกำลังกายด้วยโยคะ เป็นการออกกำลังกายอีกรูปแบบหนึ่งที่มีคนให้ความสนใจ และมีความนิยมอย่างแพร่หลาย เป็นการส่งเสริมการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อช่วยให้ข้อต่อต่าง ๆ ทั่วทั้งร่างกายมีการเคลื่อนไหวได้ดี ไม่เกิดการติดขัดสามารถชะลอความเสื่อมของข้อต่อได้ อีกทั้งยังมีผลดีต่อจิตใจอีกด้วย
“ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการพัฒนากระบวนการทำงานที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ เทคนิค และวิธีปฏิบัติเพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้ โดยเฉพาะด้านอินเดียศึกษา สู่ภาคประชาสังคมในประเทศไทย รวมทั้งสนับสนุนให้แต่ละหน่วยงาน เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และประเด็นที่เกี่ยวข้อง นำความรู้เหล่านั้นมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาต่อไป” รศ.นพ.พฤหัส กล่าว
ผศ.ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแห่งอนาคต เผยว่า กิจกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมสุขภาพ ให้ความรู้และประสบการณ์ในการฝึกโยคะ ส่งเสริมสุขภาพที่ดีทั้งทางกายและจิตใจ สร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพตนเอง เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักศึกษา บุคลากร และประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้งส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมโยคะที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอินเดีย
ดร.ชัยธัญญา ปรากาช โยกี ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมสวามี วิเวกานันทะ สถานเอกอัครราชทูตอินเดีย กรุงเทพฯ กล่าวว่า โยคะไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาทางร่างกาย แต่ว่าเป็นการเข้าถึงในเรื่องของชีวิต จิตใจ จิตวิญญาณ และความฉลาดทางปัญญา เป็นการฝึกรับรู้สภาวะแวดล้อมรอบข้าง ทำให้เรามีสติ เข้าถึงการหยั่งรู้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน คุณพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) กล่าวว่า การสร้างสุขภาพกายที่ดีเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ สุขภาพที่ดีไม่เพียงแต่จะทำให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่ยังช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการบรรยายให้ความรู้เรื่อง "เทรนด์การดูแลสุขภาพในปี 2024" จากทีมหมออาสา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำทีมโดย นพ.วัศพล กุลธวัชวิชัย ,นพ.ธนกร ยนต์นิยม และ พญ.ดารริน พรสุภัทร โดยเป็นการอบรมเกี่ยวกับ
1. การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและอายุยืน (โยคะ) : การให้ความสำคัญถึงการออกกำลังกายในรูปแบบกายภาพบำบัดและคุณประโยชน์ของโยคะต่อร่างกายและจิตใจ
2. การดูแลสุขภาพของผู้หญิง : การดูแลสุขภาพที่รวมทั้งขั้นตอนการดูแลผิวหน้า การดูแลร่างกายในเรื่องการควบคุมอาหาร
3. สุขภาพจิตและการป้องกันความเหนื่อยล้า : การเรียนรู้จากการเล่นโยคะ สามารถช่วยกระตุ้นการรู้คิด ลดการหลั่ง Cortisol และ Catecholamine ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยซึมเศร้าและวิตกกังวล
4. การดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยี และ การใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผ่านการพิสูจน์จากคลินิก : การเห็นถึงความสำคัญด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีในอนาคตที่จะตอบโจทย์ผู้คนรวมถึงกระบวนการการเลือกสรรและแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น
และ Workshop โยคะ โดยทีมงานจากสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย