Loading...

นักศึกษานิติฯ มธ. คว้าแชมป์ระดับประเทศ แข่งขันว่าความศาลจำลองกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

พูดคุยกับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันว่าความศาลจำลองกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ประจำปี 2023

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2566

 

     นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันว่าความศาลจำลองกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศประจำประเทศไทย (ICRC) และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งสมาชิกทีมแข่งขันทีมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบไปด้วย อินจิน ไขย นักศึกษาสาขาวิชากฎหมายธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) ชั้นปีที่ 1 กานต์พิชชา ราชสีหา นักศึกษาสาขาวิชากฎหมายธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) ชั้นปีที่ 2 และ ธนกิตต์ แซ่จู นักศึกษาสาขาวิชากฎหมายธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) ชั้นปีที่ 3

     โดยรางวัลที่ได้รับคือ รางวัลชนะเลิศ, รางวัล Best Memorial for Defendant และรางวัล Best Mooter

ทำความเข้าใจ อะไรคือ ‘การแข่งขันศาลจำลอง’

     การแข่งขันศาลจำลองเป็นกิจกรรมจำลองการพิจารณาพิพากษาคดีในศาล ธนกิตต์ เล่าว่า เราจะได้สวมบทบาทเป็นทนายฝั่งโจทก์หรือจำเลยในคดีนั้น ๆ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษากฎหมายมาก เพราะนักศึกษาจะได้มีโอกาส พัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียน ทักษะการค้นคว้าในประเด็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายในคดีจำลอง ซึ่งการแข่งขันศาลจำลอง International Humanitarian Law Moot 2023 เกี่ยวข้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยต้องว่าความและเตรียมการเป็นภาษาอังกฤษ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านภาษาของนักศึกษา

แบ่งปันประสบการณ์การแข่งขันว่าความศาลจำลอง

     ในการแข่งขันครั้งนี้ กานต์พิชชา ราชสีหา และ อินจิน ไขย เข้าร่วมการแข่งขันในฐานะผู้ว่าความ และธนกิตต์ แซ่จู เข้าร่วมการแข่งขันในฐานะผู้วิจัยและร่างคำร้อง

     “สมาชิกในทีมทุกคนมีหน้าที่ในการร่วมออกความเห็นและปรับบทข้อกฎหมายต่อข้อเท็จจริงเพื่อสร้างข้อต่อสู้ในร่างสรุปย่อคำแถลงการณ์ (memorial) ผู้วิจัยและร่างคำร้องจะช่วยค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งการตรวจสอบเนื้อหาและความเรียบร้อยในภาพรวมของสรุปย่อคำแถลงการณ์ นอกจากนั้น ผู้ว่าความมีหน้าที่นำข้อต่อสู้ในร่างสรุปย่อคำแถลงการณ์ดังกล่าวไปแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อศาลค่ะ” กานต์พิชชา กล่าว

     ด้านความยากและอุปสรรคในการแข่งขัน ธนกิตต์ เล่าว่า อยู่ที่เวลาในการเตรียมตัวซ้อมและค้นคว้าสำหรับการเขียนคำฟ้องและคำแก้ต่าง โดยเวลาที่ให้มานั้นมีค่อนข้างจำกัดและสมาชิกในทีมต้องแบ่งเวลาให้ดีในการทำงานจึงจะสามารถประสบความสำเร็จในการแข่งขันได้ ซึ่งเวลาในการเตรียมตัวและการเขียนคำฟ้องซ้อนทับกับช่วงสอบกลางภาคทำให้สมาชิกในทีมต้องแบ่งเวลาอย่างระมัดระวังในการทำงาน พวกเขาได้ทำสุดความสามารถและได้รับรางวัลชนะเลิศในที่สุด

     อินจิน กล่าวเสริมว่า การวิจัยข้อโต้แย้งทางกฎหมายค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากในปีนี้โจทย์คือกฎหมายว่าด้วยการขัดกันด้วยอาวุธและสงครามทางเรือ ซึ่งการทำการวิจัย ค้นคว้าข้อมูล เตรียมตัวอย่างรอบด้านของทีมภายในระยะเวลาที่จำกัด เป็นจุดสำคัญที่สามารถทำให้คว้าชัยชนะในครั้งนี้มาได้

ความรู้สึกที่คว้าแชมป์   

     “รู้สึกตื้นตันใจและดีใจมากจนไม่สามารถที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ค่ะ สมาชิกในทีมทุกคนทุ่มเทกับการแข่งขันครั้งนี้เป็นอย่างมากถึงแม้การเตรียมตัวทุกขั้นตอนจะเกิดขึ้นภายใต้แรงกดดันทางด้านเวลา แต่การได้รับรางวัลในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จจากการทุ่มเทและตั้งใจของพวกเรา และที่สำคัญคือเป็นแรงผลักดันให้พวกเราก้าวต่อไปอย่างเต็มที่ในการแข่งขันศาลจำลองในอนาคตค่ะ” กานต์พิชชา กล่าว

     อินจิน เล่าว่า รู้สึกดีใจมากที่ความพยายามของพวกเราได้รับการยอมรับ และตื่นเต้นที่ได้รับโอกาสอีกครั้งในการเป็นนักกฎหมายตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันว่าความรอบภูมิภาคที่กำลังจะมาถึงที่ประเทศฮ่องกง

‘นักกฎหมายที่ดี’ สำหรับเราเป็นอย่างไร?

     สำหรับ ธนกิตต์ การเป็นนักกฎหมายที่ดีนั้น อย่างแรกควรมีทักษะในการวิเคราะห์และการแก้ปัญหาที่ดี สามารถแก้ไขปัญหาทางกฎหมายที่ซับซ้อนได้ นอกจากนี้ควรมีทักษะในการสื่อสารที่ดีทั้งด้านการเขียนและพูด เพื่อให้สามารถโต้ตอบกับลูกความ เพื่อนร่วมงาน และผู้พิพากษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     “นักกฎหมายควรมีความซื่อสัตย์และจริยธรรมในการปฏิบัติงาน และต้องปรับปรุงทำความเข้าใจติดตามพัฒนาการทางกฎหมายอยู่เสมอ ผมคิดว่าคุณสมบัติเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเป็นนักกฎหมายที่ดีในสังคมไทยครับ”   

      

ทิ้งท้าย 

     “การแข่งขันศาลจำลองเป็นกิจกรรมที่ล้ำค่าและเสริมสร้างทักษะให้กับนักศึกษากฎหมายได้เป็นอย่างดี ผมอยากที่จะส่งเสริมและรณรงค์ให้นักศึกษารุ่นใหม่สนใจที่จะเข้าร่วมการแข่งขันศาลจำลองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Asia Cup Moot, Vis Moot, Jessup Moot หรือ IHL Moot ล้วนมีเอกลักษณ์และมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับนักศึกษาทุกคนอย่างแน่นอน” ธนกิตต์ กล่าว

     ด้าน กานต์พิชชา เล่าว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประตูบานแรกในการเข้าสู่โลกของนิติศาสตร์อย่างเต็มตัว ที่นี่เป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ทางด้านวิชานิติศาสตร์ ผ่านการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้จากคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้มุ่งมั่นที่จะเป็นนักกฎหมายที่ดีต่อไปในอนาคต

     “ขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนทำให้คว้าชัยชนะมาได้ในการแข่งขันครั้งนี้ โดยเฉพาะทางคณะ สัญญาว่าจะมุ่งมั่นทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในฐานะตัวแทนประเทศไทยและคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการแข่งขันการว่าความศาลจำลองรอบระหว่างประเทศที่กำลังจะถึงค่ะ” กานต์พิชชา กล่าว

     ทั้งนี้ ทีมที่ชนะเลิศในรอบประเทศไทย (National round) จะได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันว่าความศาลจำลองในรอบภูมิภาค (Regional round) รายการ IHL Moot Court ณ ประเทศฮ่องกง ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ปี 2567