MBA ธรรมศาสตร์ ‘คว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3’ การแข่งขัน OpsSimCom 2024
ทีมนักศึกษาธรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สร้างชื่อให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยกวาดรางวัลและคว้าแชมป์โลกในการแข่งขัน Operation Simulation Competition 2024
วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2567
สร้างชื่อให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง กับนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ โดยสามารถกวาดรางวัลในการแข่งขัน Operation Simulation Competition 2024 ซึ่งจัดโดย MIT Sloan School of Management ที่มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน 51 ทีมจากทั่วโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติด Top 10 ทั้งหมด 3 ทีม ประกอบไปด้วย
รางวัลชนะเลิศ ทีม tbs_excelcalibur โดย ศุภสิน วิจิตรตระการรุ่ง และเดชธนา มหโภไคย นักศึกษาปริญญาโทโครงการ MBA อันดับที่ 2 ทีม TBS_AM อริสา ตันฑวิเชียร นักศึกษาปริญญาตรีโครงการ BBA อันดับที่ 4 ทีม TBS_JustWarmUP นักศึกษาปริญญาโทโครงการ MBA สมาชิกทีมประกอบด้วย นรภัทร พัชรพรพรรณ, กฤษฎา ประเสริฐบูรณะกุล, ณิชนันทน์ ตันตสิรินทร์ และภัทรเวธน์ ศักดิ์ศิริสัมพันธ์ และ ทีม TBS_Mak8 ได้รางวัลอันดับที่ 34 นักศึกษาปริญญาตรีโครงการ BBA สมาชิกทีมประกอบด้วย ณัฐรดา แก้วมณี, วีรุทัย ธรรมบูรณวิทย์, เมธัส วัฒนพันธุ์ และณัฐพล ตู้สำราญ
คุยกับทีม tbs_excelcalibur ศุภสิน วิจิตรตระการรุ่ง และเดชธนา มหโภไคย นักศึกษาโครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงประสบการณ์การแข่งขันในเวที OpsSimCom 2024
เล่าถึง Operation Simulation Competition
เดชธนา: การแข่งขัน Operation Simulation Competition (OpsSimCom) เป็นการแข่งโดยการจำลองการบริหารการผลิตในโรงงานแห่งหนึ่ง ซึ่งผลิตสินค้าอะไรก็ได้ อย่างปีก่อนเป็นสินค้าด้านอุปกรณ์การแพทย์ ปีนี้เปลี่ยนเป็นเครื่อง VR ครับ แต่ว่าการเล่นตัวเกมยังเหมือนเดิม ตัวเกมจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วง 50 วันแรก ที่เป็นข้อมูลเหมือน ๆ กันทุกคนสำหรับการคำนวนเบื้องต้นในเกม ช่วง 280 วันที่เรามีสิทธิ์ในการควบคุมโรงงานอย่างเต็มที่ และช่วง 50 วันสุดท้าย ที่จะใช้ค่าที่เรากำหนดล่าสุดและเล่นต่อไปอีก 50 วัน ในโรงงานจะมีไลน์การผลิต 2 แบบ แบบแรกคือการทำตามรายการที่ลูกค้าสั่งเข้ามา อันนี้ไม่ค่อยยากเท่าไหร่ครับ ส่วนที่ยากจะเป็นการผลิตสินค้าที่เป็นมาตรฐานแล้วกำหนดราคาขาย โดยจำนวนที่ขายได้จะขึ้นอยู่กับว่าเรากำหนดราคาห่างจากราคาตลาดมากขนาดไหน ส่วนนี้เป็นไปตามกฎอุปสงค์อุปทานเลยครับ
แต่ที่ยากคือ เราไม่รู้ว่าราคาตลาดตอนไหนจะขึ้นหรือลง หลาย ๆ คนแทบจะเดาสุ่ม ระหว่างนั้นเราก็ต้องคำนวนเพื่อเลือกซื้อเครื่องจักร กำหนดแรงงานคน รวมถึงการกำหนดขนาดของ Batch เพื่อไม่ให้ไลน์สะดุด หรือ ผลิตของเยอะเกินไป เราใช้ความรู้ทุกอย่างในวิชา Operation Management อย่างเต็มที่ ใครที่ทำเงินในเกมมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะในเกมครับ
แชร์ประสบการณ์ การเตรียมตัวและอุปสรรค
ศุภสิน: ในการแข่งขัน จะเป็นการบริหารโรงงานพร้อมกันทุกทีมทั่วโลก 56 ชั่วโมงต่อเนื่องถือเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะหากวางแผนพลาดใน 1 รอบ อาจจะส่งผลต่อการแพ้หรือชนะได้เลย และปีนี้การตัดสินใจสำคัญ จะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนของประเทศไทย เรียกได้ว่าถ้าเผลอหลับทั้งทีม ตื่นมาอาจจะตกอันดับได้ อีกเรื่องที่ยากคือการคาดการณ์ข้อมูลและการวางแผนต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องทำให้เร็วและแม่นยำ บางเรื่องไม่มั่นใจ ความเห็นไม่ตรงกับเพื่อนก็ต้องมีการปรับจูนกัน แต่ด้วยเพื่อนมีความเข้าใจเกมที่สูงทำให้ปรับกันได้และส่งผลดีต่อการแข่งขันครับ
เดชธนา: ด้านการเตรียมตัว หลัก ๆ จะมีรุ่นพี่ที่เคยแข่งขันซึ่งเป็นทีมที่ได้แชมป์มาแชร์ประสบการณ์การเล่นเกมให้ครับ และปีนี้ไม่ใช่ปีแรกของเรา เราอาจจะเสียเปรียบว่าในตอนที่เราเรียน เราไม่ได้ใช้เกมเดียวกันในการเล่น แต่เรื่องประสบการณ์การแข่ง พวกเราไม่ได้เสียเปรียบใครแน่ ๆ เพราะปีก่อนพวกเราก็ลงแข่งในรายการเดียวกัน แม้ว่าได้แค่อันดับ 49 ก็ตาม แต่ก็ทำให้ได้ประสบการณ์ ได้คุ้นชินกับความรู้สึกกดดันในเกม
หัวใจสำคัญที่ทำให้เราได้แชมป์
เดชธนา: เราได้ข้อมูลของเกมมาเร็วครับ เลยวางแผนรอบแรกในส่วนของจำนวนเครื่องจักร จำนวนแรงงานคน การกำหนดค่างานว่าจะให้เครื่องจักรทำงานไหนมากกว่า เลยทำให้คะแนนขึ้นนำได้ไว ตอนแรกก็มีความกังวลอยู่เหมือนกันว่า เราจะใช้หนี้ได้ไหม เพราะช่วงแรกของเกม ทีมของเราอยู่อันดับท้าย ๆ เลย
ศุภสิน: หัวใจสำคัญคือการเข้าใจการแข่งขันว่าโจทย์คืออะไร เงื่อนไขคืออะไร มีอะไรที่ต้องตัดสินใจโดยมีปัจจัยอะไรบ้าง เมื่อเข้าใจเกมแล้วทีมเรามีการคุยและวางแผนกันตลอดจนรู้เทคนิคที่จะใช้กับทั้งสภาวะตลาดขาขึ้นและตลาดขาลงทำให้สร้างผลกำไรได้สูง สามารถขึ้นอันดับ 1 ได้ตั้งแต่ช่วงกลางเกมและรักษาอันดับไว้ได้จนจบการแข่งขันครับ
ความรู้สึกที่ได้รางวัล
ศุภสิน: รู้สึกดีใจครับ เป็นการแสดงให้เห็นว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ถ้าตั้งใจก็สามารถชนะการแข่งขันระดับโลกที่มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับโลกเข้าร่วมแข่งขันได้ครับ
เดชธนา: พอชนะจริง ๆ ก็แอบตกใจอยู่เหมือนกันนะครับ ว่าเราทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ ก็รู้สึกภูมิใจครับที่คว้าชัยชนะมาให้ทั้งมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่สอน รวมถึงเพื่อนร่วมทีมกับตัวเราเองได้ครับ
ทิ้งท้าย
เดชธนา: ถ้าไม่ได้องค์ความรู้ในโครงการ MBA โดยเฉพาะจากวิชา Operation Management and Business Process Transformation น่าจะทำให้การเล่นเกมของเรายากกว่านี้ขึ้นหลายเท่าเลยครับ ต้องขอขอบคุณอาจารย์กฤษณ์ กับอาจารย์เอกรินทร์สำหรับองค์ความรู้ที่ทำให้คว้าชัยมาได้ในครั้งนี้
ศุภสิน: สำหรับคนที่สนใจเข้าแข่งขัน ผมแนะนำว่าให้พักผ่อนก่อนการแข่งขันเยอะ ๆ ศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเกมให้ดี ๆ วางแผนให้ดีว่าตอนไหนต้องทำอะไร ตัดสินใจอย่างไร เชื่อว่าด้วยความรู้ความสามารถของเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่จะเข้าร่วมการแข่งขัน และการส่งเสริมจากอาจารย์กับรุ่นพี่จะทำให้ปีต่อ ๆ ไป นักศึกษาธรรมศาสตร์จะคว้าแชมป์โลกได้อีกแน่นอน