‘ธรรมศาสตร์’ ลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา มุ่งนำงานวิจัยออกจากหิ้ง สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มธ. ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับ บ.สิทธิบัตรไทย, บ.แอคทีฟ 28 และมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน
วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2567
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท สิทธิบัตรไทย จำกัด บริษัท แอคทีฟ 28 จำกัด และมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางด้านการนำผลงานทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์สู่เชิงพาณิชย์
ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การใช้สิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา อาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับสถาบันการศึกษา ที่ผ่านมาทุกท่านคงเคยได้ยินว่างานวิจัยของสถาบันการศึกษา มักถูกวางไว้บนหิ้ง ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ถูกสังคมตั้งคำถามเสมอว่างานวิจัยเหล่านี้ทำอะไรได้บ้าง ไปตอบโจทย์สังคม หรือไปช่วยเหลือและพัฒนาประเทศชาติได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาของไทยต้องตอบโจทย์เหล่านี้เพื่อทำให้องค์ความรู้จากงานวิจัยสามารถนำไปใช้ เกิดประโยชน์แก่สังคมได้จริง
วันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่างานวิจัยของสถาบันการศึกษา จะเริ่มมองเห็นหลักการและจุดสำคัญ คือการเน้นสร้างสรรค์งานวิจัยสู่การพัฒนาต่อยอด ในเชิงของการพาณิชย์ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ ระบบอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ยังเป็นการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับเศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับสากล
รศ. ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายสำคัญที่ต้องการผลักดันงานด้านวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพไปสู่กระบวนการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำงานวิจัยไปแก้ปัญหาได้ตรงความต้องการจริงของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของภาครัฐ โดยปัจจุบันได้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดบริษัทธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมที่แยกตัวออกจากมหาวิทยาลัยและมีนักวิจัยเข้าร่วม (Spin-off) และผลักดันการสร้างให้เกิดธุรกิจจัดตั้งใหม่ Startup ที่ขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมมากขึ้น มีสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวเสริมว่า พิธีลงนามในสัญญาฉบับนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือจากผู้ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ และภาคเอกชน ซึ่งทุกฝ่ายต่างมีเป้าหมายร่วมกันคือการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เจริญก้าวหน้า และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
“ขอบคุณทุกท่านที่ได้ให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการทำให้วันนี้เกิดขึ้น ความร่วมมือของทุกฝ่ายเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดความสำเร็จในครั้งนี้ ผมมีความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะนำมาซึ่งความก้าวหน้าและความสำเร็จในอนาคตแน่นอนครับ” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ พิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในครั้งนี้ เป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานของนักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 3 ผลงานได้แก่ ผลงานของ รศ. ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ (1) กรรมวิธีการผลิตน้ำมันจากเมล็ดองุ่นผสมน้ำมันขมิ้นชันและน้ำมันเมล็ดกัญชง โดยวิธีการสกัดเย็น (2) กรรมวิธีการเพิ่มความคงตัวของน้ำมันจากเมล็ดองุ่นผสมน้ำมันขมิ้นชัน และน้ำมันจากเมล็ดกัญชงด้วยคลื่นอัลตราโซนิค และ (3) กรรมวิธีการสังเคราะห์เซนเซอร์ที่มีส่วนผสมของพอลิคาโปแลคแทมพอลิไวนิลแอลกอฮอล์อนุภาคนาโนซิลเวอร์ เพื่อตรวจจับเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก ผลงานโดย รศ. ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น, ดร.นิภาพร เงินยวง และ คุณขนิษฐา พลสันติ