Loading...

งานวิจัยข้ามศาสตร์ ก้าวใหม่ของโลกงานวิจัย

ศ.ดร.ศากุน บุญอิต นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2566 สาขาเศรษฐศาสตร์ แนะงานวิจัยควรเป็นสหวิชาเพื่อตอบโจทย์ที่ซับซ้อนและเกิดประโยชน์ต่อสังคม

วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

     ศาสตราจารย์ ดร.ศากุน บุญอิต อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า งานวิจัยในอนาคตจะซับซ้อนมากขึ้น มีการนำองค์ความรู้เฉพาะศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ มาประกอบงานวิจัย ฉะนั้น การทำงานวิจัยข้ามศาสตร์หรือสหวิชา โดยมีทีมวิจัยอยู่ในสาขาต่างกัน จะช่วยทำให้งานวิจัยตอบโจทย์ที่ซับซ้อนและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ดีมากยิ่งขึ้น

ความเชี่ยวชาญในการทำงานด้านการวิจัย

     งานวิจัยที่ทำเป็นงานวิจัยที่ศึกษาการเชื่อมโยงกันขององค์กรในสาย Supply Chain เป็นความร่วมมือกันของแต่ละองค์กรธุรกิจที่ต้องการเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้า โดยงานวิจัยที่ศึกษาจะเป็นการร่วมมือกันศึกษากลไกที่จะช่วยจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การลดมลภาวะทางอากาศ ทรัพยากรน้ำ หรือการใช้วัตถุดิบที่น้อยลง การลดต้นทุน ในปัจจุบันนั้น องค์กรธุรกิจต่างให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำการศึกษากลไกของแต่ละองค์กร Supply Chain เพื่อร่วมมือกันให้ผ่านการหยุดชะงักในช่วงวิกฤตินี้ไปได้ งานวิจัยดังกล่าวยังก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ และในเชิงปฏิบัติ ที่ช่วยให้การดำเนินการด้านธุรกิจสามารถนำไปใช้ได้ และผ่านช่วงเหตุการณ์หยุดชะงักทางธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Disruption จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

งานวิจัยต้องนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

     งานวิจัยที่ผมศึกษาจะมุ่งเป้าหมายทั้ง 2 ด้าน ด้านที่ 1 คือด้านวิชาการ ด้วยการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ระดับนานาชาติ เพื่อจะนำเสนอความรู้ให้กับสังคมวิชาการ และด้านที่ 2 คือการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในภาคปฏิบัติของภาคธุรกิจ ภาคสังคม หรือประเทศชาติ เช่น ผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้ และประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาให้การดำเนินธุรกิจได้ ฉะนั้น ความสำคัญของงานวิจัย คือต้องมีความสมดุลกันทั้งสองด้าน

เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ก็สามารถไปต่อได้

     ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของ Supply Chain คือ ทุกครั้งที่เกิดปัญหา อย่างการหยุดชะงักทางธุรกิจ หรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่มีนักวิชาการชี้แนะว่าควรทำอย่างไร สังคม หรือประเทศจะลำบาก เมื่อเรามีงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติ จะสามารถช่วยให้การแก้ไขปัญหาในสังคมดีขึ้น ธุรกิจจะดีขึ้น ประเทศจะดีขึ้น ช่วยให้ดำเนินต่อไปได้

ความเห็นของคำว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง”

     งานวิจัยขึ้นหิ้งไม่ได้แปลว่าไม่ดีทั้งหมด อาจนิยาม “การขึ้นหิ้ง” ได้ว่า ตีพิมพ์ในวารสารแล้วไม่ถูกนำไปใช้ ซึ่งอาจไม่ถูกต้องนัก ฉะนั้น การสร้างสมดุลทั้งด้านวิชาการ และด้านการนำไปใช้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อพูดถึงงานวิจัยที่มีคุณภาพ ควรมี 4 คุณสมบัติ คือ 1. สามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำที่ดีได้ 2. สามารถนำไปใช้ปฏิบัติ ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติได้ 3. สามารถใช้ยื่นขอทุนวิจัยต่าง ๆ ได้ และ 4. สามารถถูกนำไปอ้างอิงโดยนักวิชาการหรือนำไปต่อยอดความรู้ได้

การทำงานวิจัยข้ามศาสตร์ จะช่วยตอบโจทย์วิจัยที่ซับซ้อน

     การทำวิจัยในอนาคต โจทย์วิจัยจะซับซ้อนขึ้น ดังนั้น เทรนด์ของการวิจัยในอนาคต คือ การทำงานวิจัยข้ามสาขาจะมีมากยิ่งขึ้น การวิจัยข้ามศาสตร์ต้องเริ่มต้นจาก Research Identity เราต้องบอกให้ได้ว่าตัวเรามีอะไร คนอื่นจะได้มองเห็นว่าเรามีสิ่งนี้ และเขาจะได้ประโยชน์จากที่เราทำในเรื่องนั้น ๆ เช่น ผมทำเรื่อง Supply Chain โดยอาจารย์สาขาอื่น ๆ มองเห็นว่าผมมีความเชี่ยวชาญด้านนี้อย่างจริงจัง และเห็นว่าบางเรื่องสามารถเชื่อมโยงกันข้ามศาสตร์ได้ เราก็จะได้ทีมวิจัยที่ดีขึ้นมา และร่วมมือกันเพื่อแก้โจทย์วิจัยที่ซับซ้อนให้สำเร็จครบถ้วนในทุกมิติ

ไม่ย่อท้อ ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

     “คนเราต้องมีความฝัน อย่าสร้างขีดจำกัดของตัวเอง และพัฒนาความสามารถในเชิงจินตนาการ ความสามารถในการสร้างโจทย์วิจัย ความสามารถในการ Conceptualize หรือการสร้างแนวคิดบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะมองว่าจับต้องไม่ได้ แต่นักวิจัยควรจะพัฒนาความสามารถในด้านนี้ ทำอย่างไรที่เราจะมองสิ่งที่จับต้องไม่ได้ และพยายามพัฒนามันขึ้นมาให้จับต้องได้ และที่สำคัญต้องไม่ย่อท้อ ในสังคมของนักวิจัยและงานวิจัย ความสำเร็จมันอาจจะไม่ได้มาเร็ว อาจถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ต่าง ๆ ดังนั้น ในสายงานนักวิจัย นักวิชาการ ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการย่อท้อ เราจะไปไม่ถึงจุดที่เราต้องการ ดังนั้นไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”