Loading...

นักศึกษาธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เขียนโปรแกรมหุ่นยนต์อัจฉริยะ “Introrest แนะนำเส้นทาง สินค้าและบริการ”

นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ฯ ศูนย์ลำปาง คว้าแชมป์ True 5G Word of Smart Education กับผลงาน “Introrest” โปรแกรมหุ่นยนต์อัจฉริยะแนะนำเส้นทาง

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2564

     เวลาเราไปเดินห้างคนเดียว แล้วไม่มีใครไปด้วย ทำให้เราไม่มีเพื่อนคุย และบางครั้งเราไม่รู้ตำแหน่งของร้านค้าที่แน่นอนทำให้เราเสียเวลาในการเดินห้างเป็นเวลานาน… จุดนี้ทำให้เกิดเป็นไอเดียผลงาน Introrest : เพื่อนคู่คิด แนะนำเส้นทาง สินค้าและบริการ” ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 จากเวทีการแข่งขันโครงการ "True 5G Word of Smart Education with Temi Robot Bootcamp" โดย บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นการแข่งขันแบบออนไลน์ผ่านระบบ True VROOM เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 (เป็นการแข่งขันภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเข้าแข่งขันระดับประเทศที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน 2564 นี้ ซึ่ง “Introrest” ยังเป็นนวัตกรรมที่เชื่อมโยงถึงภาคธุรกิจได้จริงจากหุ่นยนต์อัจฉริยะ Temi ผ่านเครือข่าย True5G โดยได้รับโจทย์จากฟิวเจอร์พาร์ค และ ZPELL

     โดยเป็นผลงานของ  นางสาวพรสวรรค์ ไวสิทธิ์, นายธนาพรรษ ตันอ้าย, นางสาววิราภรณ์ รสโหมด, นางสาววิลาสินี ไหมทอง และนายประพันธ์พงษ์ เพียนจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

     นายประพันธ์พงษ์ เพียนจันทร์ ได้อธิบายการทำงานของ “Introrest” ว่า “Introrest” คือ การแนะนำร้านค้าต่าง ๆ ภายในห้างสรรพสินค้า คอยช่วยในการหาร้านค้า เพื่อประหยัดเวลา หรือที่เรียกว่าเป็นเพื่อนคอยเดินข้าง ๆ โดยจะช่วยแนะนำเส้นทางในพื้นที่โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลาในการหาสถานที่เอง ทำให้ประหยัดเวลามากขึ้น และยังสามารถแนะนำร้านค้าต่าง ๆ ที่ผู้ใช้สนใจและร้านค้าใกล้เคียงได้อีกด้วย ซึ่งจะใช้งานผ่านระบบเสียงสามารถพูดคุยได้คล้ายกับมนุษย์ เสมือนเรามีเพื่อนมาคอยเดินอยู่ข้าง ๆ มาพร้อมกับหน้าจอสัมผัสทำให้เราสามารถใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ ได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำ “Introrest” มาทดลองใช้ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง โดยได้ลองให้หุ่นยนต์ Temi เดินสำรวจพื้นที่ในอาคาร และลองสนทนาด้วยเสียง

     “ผลงานชิ้นนี้ค่อนข้างมีความยากมากสำหรับพวกเรา เพราะพวกเราไม่เคยได้จับน้อง Temi หรือหุ่นยนต์ มาก่อน ทำให้ต้องใช้เวลาในการศึกษาค่อนข้างมาก ซึ่งพวกเราไม่เคยเขียน Android มาก่อนด้วย ถือว่าผลงานชิ้นนี้เป็นสิ่งที่ใหม่มาก ๆ ทำให้ได้พัฒนาตัวเองกันมากเลยค่ะ” นางสาววิลาสินี ไหมทอง

     กว่าจะออกมาเป็นผลงาน “Introrest” นั้น นางสาวพรสวรรค์ ไวสิทธิ์ และนายธนาพรรษ ตันอ้าย ได้เล่าให้ฟังอีกว่าได้นำวิชาเรียนของคณะฯ มาปรับใช้และพัฒนาจนออกมาเป็นผลงานที่สมบูรณ์ เช่น วิชา CS264 ความรู้ในการออกแบบหน้า UI ที่ใช้ตอนทำเว็บไซต์ วิชา CS111 การนำภาษาจาวามาใช้และต่อยอดในภาษา kotlin วิชา CS245 นำความรู้เรื่อง Data Science มาใช้ และวิชา CS265 ใช้ Breadth-First Search ในการกำหนดเส้นทางที่สามารถไปยังจุดหมาย

     “ในอนาคตพวกเรามองว่า หุ่นยนต์โรบอต จะเข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน เข้ามาช่วยในการพัฒนาอุสาหกรรมด้านต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมด้านการเกษตร ด้านการแพทย์ และการบริการร้านอาหาร เช่นเดียวกับ “Introrest” ที่มีการทำงานหน้าที่ใกล้เคียงกันในการนำทางไปร้านอาหาร ร้านค้า และบอกตำหน่งของที่จอดรถของผู้ใช้งานได้” นางสาววิราภรณ์ รสโหมด

     สุดท้ายนี้ น้อง ๆ พูดถึงการแข่งขันในครั้งนี้ว่า พวกเราได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนอย่างการเขียนแอปพลิเคชัน ทำให้เรามีการสื่อสารกับคนนอกองค์กร มีการทำงานเป็นกลุ่ม ได้ฝึกจิตนาการของตนเองในมุมมองของหุ่นยนต์ ได้ทำความเข้าใจกับตัวหุ่นยนต์ ได้เปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับหุ่นยนต์ และเรียนรู้ถึงฮาร์ดแวร์ที่พวกเราไม่เคยรู้จักเช่น LIDAR SENSER เป็นต้น