Loading...

‘ธรรมศาสตร์’ ผนึกภาคีปัญญาประดิษฐ์ ปลุกปั้น ‘นวัตกร’ สร้าง เศรษฐกิจในยุค AI

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านปัญญาประดิษฐ์ ตั้งเป้าพัฒนาบุคลากร และการบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างเป็นระบบ

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ.2563

  

          นี่คือยุคทองของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำสูงสุดแห่งรัสเซีย เคยพูดเอาไว้ว่า “ใครเป็นผู้นำด้าน AI ผู้นั้นจะได้ครองโลก”

          ทุกวันนี้ AI เข้ามามีบทบาทแทบทุกวงการ AI จึงเป็นทั้งความหวังและอนาคตของนานาประเทศ เห็นได้จากนโยบายจำนวนมากที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพ AI อย่างถึงที่สุด

          “จีน” ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้าน AI ภายในปี 2030 และเพิ่งจัดประชุมระดับชาติไปเมื่อปีที่ผ่านมา “สหรัฐอเมริกา” ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลทำวิจัยพัฒนา AI อย่างเข้มข้น “สหราชอาณาจักร” ตั้ง Office for AI ทำงานร่วมกับสภา AI โดยมีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน หรือที่ “ญี่ปุ่น” ก็ได้ประกาศสร้างเศรษฐกิจ 5.0 ด้วยแนวคิด “AI as a service”

          แม้ว่าการเกิดขึ้นของ AI จะมีผลกระทบต่อการจ้างงาน โดยองค์การแรงงานนานาชาติ (ILO) องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินเอาไว้ว่า จะทำให้อัตราการว่างงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกราว 11 ล้านคน ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า

         หากแต่ AI ก็ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่มีความพร้อมและปรับตัวได้อย่างเท่าทัน และนั่นหมายถึงโอกาสอันดีของ “ประเทศไทย” ที่จะสร้างเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วย

          “ไทยมีสมรรถนะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในระดับแถวหน้าของกลุ่มประเทศอาเซียน แม้จะไม่เท่าสิงคโปร์แต่งานวิจัยและนวัตกรรมหลายด้านของไทยก็สามารถทำในสิ่งที่สิงคโปร์ทำไม่ได้ ส่วนขีดความสามารถด้าน BCG (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy) ของคนไทยก็อยู่ในระดับแถวหน้าของเอเชีย บางด้านยังอยู่ในระดับแถวหน้าของโลก” ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุ

          ด้วยมีฐานทุนทางทรัพยากรบุคคลที่แข็งแรง ประเทศไทยจึงมีต้นทุนทาง AI ที่ไม่น้อยหน้าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลเอาจริงเอาจัง ประกาศจับมือกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ ภาคีภาคเอกชน และสมาคมวิชาชีพ ร่วมกันปลุกปั้น “ทีม AI ระดับชาติ” ขึ้นมา

          ความหวังและจุดชี้ขาดอนาคตประเทศไทยครั้งสำคัญ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา เมื่อ อว.ตัดสินใจผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายอีกกว่า 45 องค์กร จัดตั้ง “ภาคีปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย” (Thai AI Consortium) ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ

          พร้อมทั้ง ทุ่มงบประมาณเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ ยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในประเทศผ่านโครงการพัฒนาบุคลากรความสามารถพิเศษด้านปัญญาประดิษฐ์” (Super AI Engineer) ภายใต้ความคาดหวังที่จะสร้างฟันเฟืองตัวใหญ่สำหรับขับเคลื่อนประเทศ

          งานวันดังกล่าว ธรรมศาสตร์และภาคียังได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในการลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการองค์ความรู้ดิจิทัล การรับรองและพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ” (AI Academy Alliance) โดยทางเครือข่าย จะร่วมเป็นผู้สนับสนุนความร่วมมือนี้ ซึ่งนับเป็นอีกนิมิตหมายอันดีของประเทศไทย

          ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ภาคีปัญญาประดิษฐ์ที่จัดตั้งขึ้นในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาประเทศและสังคมไทยให้มีความพร้อมทั้งในด้านทรัพยากร บุคลากร และมีการบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างเป็นระบบ

         เครือข่ายภาคีนี้จะเป็น “ศูนย์กลาง” ที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ ทรัพยากร และพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกัน ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่ก้าวหน้าของประเทศไทย

         “AI จะเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับความต้องการของเทคโนโลยีนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ล้วนต้องการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้” นายกสมาคม AI ระบุ

         แน่นอนว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญ ที่จะพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษด้านปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการไปสู่อนาคตที่โชติช่วงยิ่งขึ้น

          ขณะที่ ศ.พิเศษ ดร.เอนก ในฐานะประธานงานดังกล่าว บอกว่า ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการสร้างรายได้และการกระจายรายได้ โดยทุกวันนี้รัฐบาลได้สนับสนุนทุนการวิจัยและพัฒนาประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ อว. จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท และอยู่กับหน่วยงานอื่นอีก 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งภาพรวมก็ยังถือว่าไม่มากนัก แต่โชคดีที่มีภาคเอกชนที่สนใจด้านการพัฒนา สนับสนุนงบประมาณให้อีกถึง 9 หมื่นล้านบาท

          อาจารย์อเนก บอกอีกว่า ในโลกอนาคต สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือเรื่อง Digital Transformation และเรื่อง AI ที่จะต้องยกระดับให้มากขึ้น ดังนั้นการรวมตัวของภาคีปัญญาประดิษฐ์ย่อมจะทำให้เกิดพลังมากยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสอันทีที่จะสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

          นอกจากการตั้ง “ทีม AI ระดับชาติ” ขึ้นมาแล้ว หากนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สนับสนุนและขับเคลื่อนวงการ AI ของประเทศไทยให้รุดหน้าและตอบโจทย์โลกแห่งอนาคตที่กำลังจะมาเยือน โดยมีการจัดตั้ง “ศูนย์ AI มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” สถาบันพัฒนาศักยภาพด้านปัญญาประดิษฐ์ และโครงการพัฒนานวัตกร วิศวกร นักวิจัย และวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Super AI Engineer เพื่อบุกเบิกและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ทันสมัยให้สังคมไทยทัดเทียมสังคมโลก