Loading...

คณบดีคณะสถาปัตย์ฯ ธรรมศาสตร์ แนะน้ำท่วม กทม. ควรแก้ที่ต้นเหตุ

คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ “Water Sensitive Urban Design การบริหารจัดการน้ำแบบใหม่” ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. ที่ต้นเหตุ

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2565

     เข้าสู่ช่วงฤดูฝนปัญหาคาราคาซังที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้ง แม้จะเปลี่ยนผู้ว่าฯ ไปแล้วกี่ท่านก็ตาม ปัญหาฝนตกน้ำท่วมขังบนท้องถนนจนระบายออกไม่ทัน ทำให้การจราจรติดขัดตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้

     ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาพูดคุยถึงรายละเอียดปัญหาน้ำท่วม ผังเมือง และแนวทางการแก้ปัญหาที่(คาด)ว่าคนกรุงเทพฯ ต้องเจอในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้

     ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ก่อนจะทำความเข้าใจเรื่องน้ำท่วม เราต้องรู้จักต้นเหตุของปัญหาของมันเสียก่อน คือ กรุงเทพมหานคร มีภูมิทัศน์ (landscape) เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ที่มีปากแม่น้ำติดกับทะเล ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ “ความเสี่ยง” น้ำท่วมขังมาตั้งแต่ต้นแล้ว สาเหตุที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงและตั้งอยู่ตรงพื้นที่นี้ เพราะชาวบ้านในสมัยก่อนต้องการอยู่ใกล้ทะเล ทำนา และปลูกพืช ซึ่งปัจจุบันการตั้งถิ่นฐานของคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมเคยใช้ชีวิตอยู่กับเกษตรกรรม แต่วันนี้เราอยู่กับอุตสาหกรรม และการพัฒนาเมืองก็ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ อีกทั้งสิ่งที่ทำยังเป็นการ “ฝืน” ธรรมชาติ

     คำว่า “ฝืน” ในที่นี้หมายถึง ในยุคโมเดิร์นของการพัฒนาเมือง เราอาจจะมอง “น้ำฝน” เป็นศัตรู เมื่อฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขัง จะต้องเร่งระบายน้ำออกไปให้หมด ฝนตกมาต้องดันลงท่อ ท่อไม่พอ ก็ต่อด้วยการดันลงคลอง ต่อด้วยอุโมงค์ยักษ์ และเอาไปทิ้งทะเล นี่คือแนวคิดเก่า

     ผศ.อาสาฬห์ กล่าวเสริมว่า ปัญหาสำคัญเมื่อมีน้ำเข้ามา สิ่งที่จะทำต่อคำตอบคือ “การสูบออก” เพื่อระบายออกไป แต่สำหรับกรุงเทพมหานครมีพื้นที่กว้างใหญ่มากกว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันใช้ระบบคันกั้นน้ำ ซึ่งในความเป็นจริง ยังมีระบบย่อย คือ Polder System มาช่วย โดยออกแบบใช้แนวถนนเป็นตัวกั้น เช่น ถนนพระรามสอง หรือ สุขุมวิท ซึ่งหากดูดี ๆ จะมีแนวคันกั้นน้ำอยู่ การออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมลักษณะนี้ เหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งที่ผ่านมา เวลาเราพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วม เรามักพูดที่ “ปลายเหตุ” แต่เราลืมนึกถึง “ต้นเหตุ” ของปัญหาน้ำท่วม กทม. เนื่องจาก กทม. เป็นพื้นที่ราบลุ่ม และการแก้ปัญหาแบบเก่า ถ้าทำไม่ครอบคลุม ก็จะเจอปัญหาแบบปัจจุบัน

     “กรุงเทพฯ จึงควรหันมาใช้แผนพัฒนาเมืองแนวคิดใหม่ ในต่างประเทศเริ่มทำกันมาเยอะแล้ว คือ Water Sensitive Urban Design” หมายถึง การออกแบบเมืองที่คำนึงถึงพลวัตของน้ำ โดยเป็นแนวคิดที่มอง “ตรงข้าม” กับของเดิม ที่เคยมองว่า “เมือง” กับ “น้ำ” ต้องแยกกัน ทำให้ไม่เกิดความยั่งยืน ส่งผลให้มีการลงทุนมหาศาลในด้านโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ เมืองยังได้รับผลกระทบด้วย การระบายน้ำแบบเก่า เร่งเอาลงท่อจนหมด เมืองก็จะมีความชื้นน้อย นึกง่าย ๆ หากฝนตกลงมา แล้วน้ำค้างอยู่บนต้นไม้ ไหลลงดิน น้ำยังอยู่ในเมืองก็จะส่งผลต่ออุณหภูมิในเมืองที่จะเย็นลง หรือฝุ่นน้อยลง เพราะหากปล่อยให้อากาศแห้งฝุ่นก็เยอะ ฉะนั้น แนวคิด Water Sensitive Urban Design หมายถึง การพยายามเก็บน้ำไว้ในเมืองให้นานที่สุด (ไม่ใช่เก็บตลอด) ชะลอน้ำ เพื่อหาพื้นที่ให้อยู่ในเมือง เพื่อเป็นส่วนประกอบของเมืองให้ได้นานที่สุด แล้วค่อย ๆ ปล่อยซึมลงดิน หรือระเหยไปชั้นบรรยากาศ” ผศ.อาสาฬห์ กล่าว

     ตัวอย่างต้นแบบการบริหารจัดการน้ำแบบใหม่ ที่ใกล้ประเทศไทย คือ “สิงคโปร์” ซึ่งเป็นประเทศที่ฝนเยอะกว่าประเทศไทย 1 ปี ฝนตกกว่า 300 วัน ปริมาณน้ำฝนก็น่าจะเยอะกว่า สิ่งที่เขาพยายามทำ คือ การชะลอน้ำ เช่น บนตึกสูงในสิงคโปร์เขาทำหลังคาในลักษณะ green roof โดยมีงานวิจัยพบว่า หลังคาสีเขียวแบบนี้ดูดซึมน้ำได้ 10% แทนที่ฝนตกลงมาแล้วจะลงท่อหมด แต่ถ้าหน่วงไว้ได้ 10% ก็จะทำให้มีเวลาระบายมากขึ้น

     คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ผู้ว่าฯ กทม. ก็พยายามปรับแนวคิดการจัดการน้ำ โดยเห็นท่าน ผู้ว่าฯ พูดถึงแนวคิด “แก้มลิง” โดยมีพื้นที่บ่อน้ำเดิม หรือ ระบบคลอง ข้อเสียของคลอง คือมีน้ำอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่พอ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องมองคือ “บ่อน้ำ” ไม่ว่าในที่ของรัฐบาลหรือเอกชน ต้องออกแบบให้มีการเชื่อมต่อกัน เวลาฝนตกจะได้ไหลลงไป ในเชิงเทคนิคการก่อสร้างในปัจจุบัน มีหลายวิธีที่ทำได้ เช่น การใช้กรวด หิน เพิ่มความพรุนในชั้นใต้ดิน ทำที่สนามหญ้าขนาดใหญ่ ยกตัวอย่าง “สวนลุม” มีสนามหญ้า ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่น้ำสามารถซึมลงไปได้เองตามธรรมชาติเท่าที่ทราบสวนสาธารณะใน กทม. มีทั้งหมด 37 แห่ง มีเพียงบางแห่งที่ถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ อาทิ สวนสันติภาพ, สวนเบญจสิริ ในทุก ๆ สวนสาธารณะ มีพื้นที่ที่เป็นบ่อน้ำ

     ยกตัวอย่าง หากสวนสาธารณะ ในพื้นที่ 2 ไร่ หรือ 3,200 ตร.ม. หากมีการดีไซน์ ขอบบ่อจะมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 50 ซม. หมายความว่า เราสามารถเก็บน้ำได้ 1,600 ลูกบาศก์เมตร กลายเป็นพื้นที่หน่วงน้ำชั้นดี สิ่งที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ต้องทำ รับมือฝนถล่มในเดือนหน้า คือ การหาพื้นที่หน่วงน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากเป็นพื้นที่ของรัฐก็ทำได้ทันที หากคลองเริ่มตื้นก็น่าจะขุดเพิ่มให้ลึกขึ้น เพื่อเก็บน้ำเยอะขึ้น บ่อน้ำ ในหน่วยงานราชการ โดยพื้นที่นอกกรุงเทพฯ ออกไปนิดหนึ่ง อย่าง ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก็พยายามพูดกันว่า พื้นที่มหาวิทยาลัยก็คล้ายสวนสาธารณะต้องทำหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชน ฉะนั้น ช่วงน้ำหลาก บางส่วนของมหาวิทยาลัย อาจจะต้องยอมให้ท่วมไปบ้าง เพราะไม่ได้ใช้งานอะไรมาก อย่างน้อยก็ช่วยลดความเดือดร้อนให้ประชาชน

     ผศ.อาสาฬห์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ยังไม่รวมถึงปัญหาโลกร้อน หรือ แม้แต่เรื่องน้ำเหนือหลากลงมา ถ้าเราเจอแบบปี 2554 เชื่อว่า ปัญหาจะใหญ่หลวงหนักกว่านี้ เพราะในรอบนอก จังหวัดใกล้ กทม. เมื่อปี 2554 พื้นที่จำนวนมากเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ เป็นไร่นาของประชาชน แต่ปัจจุบันเมืองได้ขยายไปมาก กลายเป็นพื้นที่หมู่บ้านจัดสรร หากเจอแบบนั้น ไม่แน่ว่ากรุงเทพฯ อาจจะเอาไม่อยู่

     “และเมื่อถามว่า อุโมงค์ยักษ์ ในเวลานี้มีความจำเป็นไหม ช่วยได้แค่ไหน ถ้าเราเอาน้ำเก็บในอุโมงค์ยักษ์หมด ก็จะมีผลต่อความชื้นในเมือง มีผลต่อ Heat Island Effect (เกาะความร้อนในเมือง) หากอุณหภูมิในเมืองสูงขึ้น ก็ส่งผลให้เมฆฝนตกผิดธรรมชาติ ซึ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ เราต้องถอยกลับไปตั้งหลักว่าเราจะอยู่กับธรรมชาติ อย่างไร เพื่อปรับวิธีเพื่ออยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด ถึงแม้จะกลับไป 100% ไม่ได้ แต่เราต้องยึดหลักไม่ฝืนธรรมชาติ” ผศ.อาสาฬห์ กล่าวทิ้งท้าย