Loading...

ธรรมศาสตร์ จัดงาน ‘วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย 2565’ ยกระดับงานวิจัย สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโลก

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันเชิดชูเกียรตินักวิจัย ประจำปี 2565 สร้างขวัญกำลังใจให้นักวิจัย หลังคว้ารางวัลในประเทศ-นานาชาติ สอดคล้องนโยบายยกระดับงานวิจัย

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2565” เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธี ทั้งนี้ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติคุณคณาจารย์และนักวิจัยของธรรมศาสตร์ ที่สร้างผลงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาทั้งต่อสังคมไทยและสังคมโลก และสามารถคว้ารางวัลได้ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนวัตกรรมจำนวนมากที่ได้รับรางวัลในประเทศ และสร้างชื่อเสียงในระดับโลก ซึ่งเน้นให้เห็นศักยภาพของบุคลากรธรรมศาสตร์ ที่มีความรู้ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นอันตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสังคม

     ฉะนั้น ธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญด้านวิชาการ งานวิจัย งานสร้างสรรค์ รวมถึงสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมมาโดยตลอด จึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสร้างงานวิจัย และนวัตกรรมต่อไป ดังเช่นในขณะนี้ซึ่งมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมงานวิจัย เพื่อสนับสนุนนักวิจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในการร่วมกันกับอาจารย์ และนักวิจัยของธรรมศาสตร์ ผลิตงานวิจัย อันจะนำไปสู่การยกระดับงานวิจัยให้มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก

     “ผลงานวิจัยของทุกคนที่ได้รับรางวัล ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของธรรมศาสตร์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม (Social Impact) อย่างเป็นรูปธรรม เปรียบเสมือนแสงเทียนสองสว่างทำให้สังคมมองเห็นทิศทางการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รศ.เกศินี กล่าว

     ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รอบปีที่ผ่านมาฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมได้รับงบประมาณเพื่อการดำเนินงานตามแผนงานและกิจกรรมด้านการวิจัยที่กำหนดไว้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการทำวิจัยและนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ เช่น งานสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ เผยแพร่ตีพิมพ์ผลงานดังกล่าว การจดทะเบียนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ

     สำหรับความสำเร็จในปี 2565 ทีมนักวิจัยของธรรมศาสตร์ ได้คว้ารางวัลจากทั้งเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติ และรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติอย่างมากมาย ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำเป้าหมายความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในการสร้างงานวิจัยคุณภาพสูง รวมถึงการพร้อมส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ภายใต้โจทย์ที่ท้าทายในการเชื่อมโยงความรู้สหสาขาวิชา เพื่อนำไปสู่การเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อสาธารณะอย่างแท้จริง

     รศ.วิทยา ด่านธำรงกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์        (TU RAC) กล่าวว่า ในปีก่อน TU RAC ได้มีโครงการวิจัยกว่า 500 โครงการ ซึ่งครอบคลุมองค์ความรู้ทุกศาสตร์ในโลกนี้ ซึ่งถือเป็นขุมพลังทางปัญญาอันยิ่งใหญ่ของสถาบันการศึกษา และประเทศชาติรวมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางสถาบันวิจัยจะร่วมกับฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมต่อไป เพื่อผลักดัน รวมถึงส่งเสริมอาจารย์ และนักวิจัยทุกคนในฐานะผู้ผลิตงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาบ้านเมือง สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน เพื่อให้ธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาที่ก้าวไปอยู่ในระดับต้นของโลกด้านงานวิจัยในอนาคต

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลในงาน “วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2565”   แบ่งออกเป็น 7 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย

     1. ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ จำนวน 7 เหรียญ

     2. ผู้ได้รับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น เมธีวิจัยอาวุโส และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 4 เหรียญ

     3. ผู้ได้รับการกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ ได้รับเงินเดือนขั้นสูง จำนวน 2 เหรียญ

     4. ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 19 เหรียญ 4 ผลงาน

     5. ผู้ได้รับทุนวิจัยโครงการขนาดใหญ่ จำนวน 11 เหรียญ

     6. ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับส่วนงาน จำนวน 12 เหรียญ

     7. ผู้ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณทางด้านการวิจัยจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 21 เหรียญ