Loading...

ทางแก้ “กลิ่นปาก” จากการสวมหน้ากากอนามัย ปัญหาที่อาจไปกวนใจใครหลายคนได้!

ในชีวิตประจำวันทุกวันนี้ ทำให้เราต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ปัญหากลิ่นปากก็อาจทำให้ใครหลายคนเกิดความกังวล และเสียความมั่นใจในการพูดคุยกับผู้อื่นได้

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2564

     แน่นอนว่าทุกวันนี้ ไม่ว่าเราจะต้องเดินทางออกไปไหนมาไหน หรือพบปะกับผู้คน เราจะต้องใส่หน้ากากอนามัยกันเป็นประจำอยู่แล้ว และเมื่อเราสวมหน้ากากอนามัยทั้งวัน ปัญหาที่อาจจะพบได้นั่นก็คือ “กลิ่นปาก” จากที่เมื่อก่อน เราไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย ปัญหานี้อาจไม่ได้ชัดเจนและส่งผลกระทบมากนัก แต่เมื่อการใช้ชีวิตประจำวันในยุค COVID-19 บังคับให้เราต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกจากที่พัก เพื่อป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสวายร้ายนี้ ปัญหากลิ่นปากก็อาจทำให้ใครหลายคนเกิดความกังวล และเสียความมั่นใจในการพูดคุยกับผู้อื่นได้

     อาจารย์ ทันตแพทย์มหัทธน พูลเกษร สาขาปริทันตวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก ว่า ภาวะการมีกลิ่นปาก เกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุสำคัญคือ การมีเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก เชื้อเหล่านี้มักพบในคราบจุลินทรีย์ที่เกาะบนหินปูนทั้งเหนือเหงือก และใต้เหงือก นอกจากนี้ อาจเกิดจากการมีฟันผุ หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น นิ่วในต่อมทอนซิล เมื่อเราใส่หน้ากากอนามัย ปริมาณก๊าซที่ทำให้เกิดกลิ่นที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่สามารถแพร่กระจายผ่านหน้ากากอนามัยออกไปได้ทั้งหมด จึงอาจสะสมทำให้มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น ทำให้เรารู้สึกได้กลิ่นปากชัดเจนมากขึ้นได้

หากใช้ “หน้ากากผ้า” จะช่วยเรื่องกลิ่นปากเมื่อใส่หน้ากากได้มั้ย

     หน้ากากผ้า มีคุณสมบัติในการป้องกันการแพร่ผ่านของน้ำหรือก๊าซได้ไม่ดีเท่าหน้ากากอนามัย ดังนั้น การใช้หน้ากากผ้าอาจลดการสะสมของกลิ่นได้ เพราะก๊าซอาจสะสมน้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม หากหวังผลป้องกันโรคที่ติดผ่านทางเดินหายใจ หน้ากากอนามัยย่อมให้ผลดีกว่าหน้ากากผ้า แต่ถ้ากลิ่นปากที่เกิดขึ้น เกิดจากในช่องปากหรือสาเหตุจากอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยก็อาจให้ผลไม่แตกต่างกัน

ปัจจุบันมีหน้ากากที่ช่วยลดกลิ่นปากหรือไม่

     หน้ากากลดแบคทีเรียอาจช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียบริเวณพื้นผิวของหน้ากากอนามัย แต่ไม่ได้แก้ไขการมีกลิ่นปากที่เกิดจากสาเหตุหลักคือ “แบคทีเรียในช่องปาก” ดังนั้น หน้ากากลดแบคทีเรียอาจไม่ช่วยในการลดกลิ่นปากได้จริง

     “หากรู้สึกว่ามีกลิ่นปาก แนะนำให้มาทำการตรวจเพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษา หากกลิ่นปากที่เกิดขึ้นมีสาเหตุชัดเจน การรักษาเช่น การขูดหินปูน รักษาโรคเหงือก อุดฟัน จะช่วยให้ปัญหากลิ่นปากได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ซึ่งส่งผลดีระยะยาวต่อผู้มีกลิ่นปากด้วย” อาจารย์ ทันตแพทย์มหัทธน กล่าว

     อย่างไรก็ตาม การหมั่นทำความสะอาดช่องปาก โดยเฉพาะภายหลังการรับประทานอาหาร ด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี หรือการดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะปากแห้ง ก็จะช่วยลดการเกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน