Loading...

เด็ก BBA Thammasat Business School คว้าแชมป์วิเคราะห์หุ้น CFA 2019-2020

 

นักศึกษาโครงการ BBA Thammasat Business School คว้าชัยชนะการแข่งขันสุดหินรายการ CFA Institute Research Challenge in Thailand 2019-2020

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563

  

          กว่า 5 เดือนของการทุ่มเทแรงกายและแรงใจ ทีมตัวแทนนักศึกษา โครงการหลักสูตรนานาชาติ BBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าสู่สนามแข่งขัน CFA รายการแข่งขันวิเคราะห์หุ้นที่จัดโดย Institute Research Challenge in Thailand การต่อสู้ที่เข้มข้นได้เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับผู้ท้าชิงอีก 16 ทีม จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ โจทย์การแข่งขันคือ “การวิเคราะห์หุ้นของบริษัท WHA” โดยจะต้องอาศัยการคัดเลือกทั้งหมด 3 รอบ โดยเริ่มที่รอบรีพอร์ต รอบพรีเซนเทชัน เพื่อค้นหา 8 ทีมที่ดีที่สุดสู่รอบชิงชนะเลิศ

          ทีมตัวแทนจากโครงการ BBA ซึ่งประกอบไปด้วย นายปัณณ์ เจนจรัสสกุล นายณัฐศักดิ์ อินทแสง นางสาวปาลิตา เวโรจน์พิพัฒน์ นางสาวประวีณา มานพ และนางสาวศนิภัทร์ โกษียาภรณ์ เผยว่า พวกเขาต้องอาศัยทักษะจากการเรียนรู้ตลอด 4 ปีในรั้วธรรมศาสตร์ นำเอาทั้งทฤษฎีและรูปแบบการปฏิบัติที่เคยเรียนรู้มาทั้งหมด ประยุกต์ใช้กับโจทย์และเขียนออกมาเป็นรีพอร์ตโดยใช้เวลายาวนานถึง 4 เดือน และด้วยความสามารถที่โดดเด่นในการตีโจทย์ พรีเซนเทชัน ตลอดจนทักษะการตอบคำถามที่รัดกุม ส่งผลให้ทีมตัวแทนจากคณะพาณิชย์ฯ สามารถเอาชนะคู่แข่งและคว้ารางวัลชนะเลิศได้ในที่สุด  

          นางสาวปาลิตา เวโรจน์พิพัฒน์ หนึ่งในสมาชิกทีมได้เล่าที่มาที่ไปของการแข่งขันและการรวมทีมในครั้งนี้ว่า การที่จะได้เป็นตัวแทนของทีมแข่งขันจำเป็นที่จะต้องผ่านการคัดเลือกในระดับคณะ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาการแข่งขัน เลือกนักศึกษาขึ้นมา 5 คน เริ่มตั้งแต่การออดิชันภายในคณะ โดยการทำ Stock Pitching ภายในระยะเวลา 3 นาที และในขั้นตอนต่อไปคือการจำลองการแข่งขันจริง คือการทำ Group Recommendation ให้โจทย์และทำเป็นรีพอร์ตขึ้นมา และขั้นตอนสุดท้ายคือการสัมภาษณ์เดี่ยว เพื่อพิจารณาความพร้อมและทัศนคติต่อการแข่งขัน

          นายณัฐศักดิ์ อินทแสง อีกหนึ่งผู้นำศึกในครั้งนี้ได้เล่าถึงความยากในการแข่งขันว่า โจทย์มีความซับซ้อนตั้งแต่ขั้นตอนการทำรีพอร์ตเพื่อวิเคราะห์หุ้นของบริษัท เนื่องจากบริษัท WHA คือบริษัทที่ทำนิคมอุตสาหกรรม ทำให้การทำบัญชีและโครงสร้างธุรกิจที่หลากหลาย เพราะมีทั้งธุรกิจ นิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ น้ำไฟฟ้า และธุรกิจดิจิตัล ดังนั้นทีมแข่งขันจำเป็นตั้งใช้ระยะเวลาอย่างยาวนานในการเข้าใจพื้นฐานการทำบัญชีของ WHA และโครงสร้างบริษัททั้งหมด 

         “ความยากง่ายของงานนี้อีกข้อคือ มันเป็นเรื่องไกลตัว เพราะโจทย์คือการคิดและทำความเข้าใจธุรกิจแบบ B to B (การทำธุรกิจต่อธุรกิจ) ซึ่งไม่ใช่การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของทุกคน ดังนั้นวิธีคิดและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จึงต้องมองเป็นภาพใหญ่ และคำนึงถึงปัจจัยที่จะมากระทบธุรกิจในระดับประเทศ” นางสาวปาลิตา เวโรจน์พิพัฒน์ กล่าวเสริม

          ส่วนจุดแข็งของทีมนั้น นางสาวประวีณา มานพ เผยสิ่งที่ทำให้เฉือนเอาชนะคู่แข่งคนอื่น ๆ ได้ คือการสนับสนุนของอาจารย์และรุ่นพี่ในโครงการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก “ความรู้มันไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน แต่ความรู้ยังสามารถหาได้จากการที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง”

          “ในการตอบคำถามในรอบสุดท้ายของทีม คือหัวใจสำคัญในการพลิกกลับมาเอาชนะคู่แข่งได้ เพราะนักศึกษาจากโครงการ BBA ทุกคนได้ฝึกทำพรีเซนเทชันระหว่างเรียน ทำให้สามารถนำเอาประสบการณ์ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ และในการแข่งครั้งนี้ ทุกคนในทีมก็วางแผนกันอย่างรอบคอบว่าต้องตอบคำถามอย่างไรถึงจะได้เป็นทีมที่ดีที่สุด เพราะการเตรียมตัวที่ดีเป็นจุดแข็งของพวกเรา” นายปัณณ์ เจนจรัสสกุล กล่าวปิดท้าย