Loading...

ปลูกข้าวบนสวนผักออร์แกนิกลอยฟ้า ก้าวแรกสู่ระบบอาหารปลอดภัย “ธรรมศาสตร์”

วันธรรมศาสตร์ทำนาและปลูกผักบนหลังคา ครั้งที่ 1 บนสวนผักออร์แกนิกลอยฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ครอบคลุมพื้นที่บนหลังคาอาคารอุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2563

  

 

          กิจกรรม วันธรรมศาสตร์ทำนาและปลูกผักบนหลังคา ครั้งที่ 1 ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา บนสวนผักออร์แกนิกลอยฟ้าขนาด “ใหญ่ที่สุดในเอเชีย” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บนหลังคา อาคารอุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี ท่ามกลางความสนใจของคณาจารย์ นักศึกษา ประชาชนทั่วไปหลายร้อยชีวิต

          แม้ว่าสถานที่ทำนา-ปลูกข้าวในปีนี้จะแตกต่างไปจากเดิม หากแต่หัวใจของกิจกรรมซึ่งก็คือการส่งต่อปณิธานและจิตวิญญาณการทำเพื่อ “ประชาชน” ให้แก่นักศึกษารุ่นใหม่ ยังคงได้รับการสืบสานจากรุ่นสู่รุ่นไม่เปลี่ยนแปลง

          นอกจากเป็นประเพณีสำคัญของชาวธรรมศาสตร์แล้ว จุดเด่นของกิจกรรมภายใต้ โครงการธรรมศาสตร์ทำนา และปลูกผัก บนหลังคาลอยฟ้า (Thammasat Urban Rooftop Organic Farm) ครั้งนี้ ก็คือความร่วมไม้ร่วมมือของคณาจารย์ นักศึกษา ประชาชน ที่จะประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน “ปฏิเสธสารเคมี”

          “เราหวังว่าประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรใช้สารเคมี อันเป็นต้นตอของโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย มาสู่การเกษตรแบบไร้สารพิษ” ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ระบุ

          อาจารย์ปริญญา เน้นย้ำว่า การเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะทำให้ประเทศไทยเห็นว่า ทุกที่สามารถปลูกผักออร์แกนิกได้ ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า ระเบียงคอนโด หรือตึกรามบ้านช่องในทุกลักษณะ

          กิจกรรมทำนา-ปลูกข้าว อาจเป็นเพียงอีเวนต์หนึ่งในสายตาของผู้ที่มองอย่างผิวเผิน เช่นเดียวกับอาคารอุทยานการเรียนรู้ฯ ที่อาจเป็นแค่อาคารขนาดใหญ่โอ่อ่าเพียงหลังหนึ่ง

          ทว่า ถ้าลงลึกในรายละเอียดแล้วจะพบว่า ณ ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยรูปธรรมความยั่งยืน และกิจกรรมทำนา-ปลูกข้าว ไม่ต่างไปจากก้าวแรกของการ “สร้างระบบอาหารปลอดภัย” ให้กับชาวธรรมศาสตร์ และประชาชน

          บริเวณหลังคา ถูกบรรจุด้วยแนวคิด “หลังคาสีเขียวที่กินได้” ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ความเย็น ประหยัดพลังงานภายในอาคาร ยังเป็นพื้นที่แหล่งอาหารที่สามารถผลิตอาหารได้มากถึง 20 ตันต่อปี หรือ 133,000 มื้อต่อปี และอีกไม่เกิน 4 เดือนข้างหน้า อาคารอุทยานการเรียนรู้ฯ จะมีการเปิด “ศูนย์อาหารออร์แกนิก” อย่างเป็นทางการ

          ผลผลิตจากสวนผักบนหลังคา จะเป็นวัตถุดิบหลักในการนำมาปรุงอาหาร จัดจำหน่ายให้แก่ชาวธรรมศาสตร์ และประชาชนในราคาย่อมเยา มากไปกว่านั้น มีการวางแผนเอาไว้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการต่อยอดพื้นที่อาคารอุทยานการเรียนรู้ฯ ให้กลายเป็น “ตลาดพืชผลออร์แกนิก” สำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ โดยจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนนำผลผลิตออร์แกนิกมาร่วมจัดจำหน่าย และซื้อหากลับไปรับประทานได้

          ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะภาคีสำคัญในโครงการธรรมศาสตร์ทำนาฯ มองว่า อาคารแห่งนี้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและต่อยอดแนวคิดการบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย ไร้สารเคมี และสร้างความมั่นคงด้านอาหารได้อย่างมีคุณภาพ ผ่านกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติจริงอย่างครบวงจร โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วม

          “นับตั้งแต่การวางแผนระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ วิธีการเพาะปลูกไร้สารเคมี การเก็บเกี่ยวและจัดจำหน่ายสู่ผู้บริโภคในศูนย์อาหารออร์แกนิก จนถึงการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยเพื่อนำมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในเกษตรกรรมต่อไป รวมถึงแนวทางการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตยกรรม ทั้งหมดสอดคล้องกับแนวคิดพื้นที่สุขภาวะได้อย่างสมบูรณ์แบบ” ดร.นพ.ไพโรจน์ ระบุ

          ขณะที่ ผศ.ปราณิศา บุญค้ำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต กล่าวว่า การดำเนินงานนี้สอดคล้องกับแผนแม่บทเพื่อก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ การบริหารจัดการ และการใช้พื้นที่ทางกายภาพ ควบคู่ไปกับการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการก่อสร้างอาคาร รวมถึงการวิจัยและบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอน นำหลายสาขาวิชามาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญคือสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืน และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่สุด

          ด้านผู้เข้าร่วมกิจกกรรม นางสาวจิณณพัต แหยมถนอม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยความรู้สึกต่อกิจกรรมครั้งนี้ว่า รู้สึกสนุกที่ได้ทำกิจกรรมนี้พร้อมกับเพื่อน ๆ และรุ่นพี่ ตั้งแต่ทราบข่าวว่าจะมีกิจกรรมนี้เกิดขึ้นก็อยากจะมาร่วมด้วย เพราะเปิดประสบการณ์การดำนาครั้งแรกในชีวิต

          ส่วน นายพาธี แซ่ตั้ง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) กล่าวว่า ผมเรียนที่ท่าพระจันทร์ พอรู้ว่ามีการจัดกิจกรรมทำนา ก็ตั้งใจจะมาร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวธรรมศาสตร์ และรู้สึกสนุกที่ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน

          ทั้งหมดนี้ คือการทำงานตามทิศทางที่ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วางเอาไว้ คือการเป็น Flagship of Spirit for the People ที่จะปลูกฝังให้นักศึกษาและบุคลากรทุกคนรักและเชื่อมั่นในจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกคนต้องเรียนรู้และลงมือทํา เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย นี่จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้มาร่วมแสดงพลังสีเขียวของการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการปลูกข้าวบนอาคารที่ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในคุณงามความดีของศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในโอกาสชาตะกาลครบ 100 ปี