Loading...

ธรรมศาสตร์ มุ่งสร้างกลไก “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” แห่งแรกของเอเชีย

ด้วยปัจจุบันสถานการณ์การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และความรุนแรงทางเพศ เป็นปัญหาที่คุกคามสิทธิและสุขภาพของคนในสังคมไทยและสังคมโลก

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

  

          ปัจจุบันสถานการณ์การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และความรุนแรงทางเพศ เป็นปัญหาที่คุกคามสิทธิและสุขภาพของคนในสังคมไทยและสังคมโลก ผนวกกับรูปแบบและผลกระทบที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ประชาคมธรรมศาสตร์ซึ่งมี 4 ศูนย์ มีพื้นที่ทางกายภาพที่กว้างใหญ่ และมีบุคลากรมากกว่า 50,000 คนที่ต้องใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในประชาคมย่อมมีความเสี่ยงและมีประสบการณ์ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และความรุนแรงทางเพศ ข้อมูลจากการสำรวจของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิง สสส. เมื่อปี 2561 พบว่าผู้หญิงและเพศอื่น ๆ กว่าร้อยละ 35 มีประสบการณ์ในการถูกล่วงละเมิดทางเพศในการเดินทางโดย   รถโดยสารสาธารณะ และยังเคยมีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่พัก ที่ทำงาน และพื้นที่สาธารณะอีกด้วย

          ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า เราได้เรียนรู้ถึงบทเรียนของสถานการณ์ ปรากฏการณ์ และผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าวด้วยความมุ่งมั่นให้เกิดการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผ่านกลไกที่เป็นรูปธรรม ซึ่งรูปธรรมแรกที่เกิดขึ้นคือ การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ กรรมการชุดนี้เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของกลไกที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแรกของภูมิภาคเอเชียในการสร้างกลไกที่ไม่ได้มุ่งเพียงแค่การดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่คณะกรรมการฯ ชุดนี้ยังให้ความสำคัญกับกลไกการดำเนินงานผ่านยุทธศาสตร์ แผนงาน กิจกรรม    ต่าง ๆ ในการป้องกันไม่ให้การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้น การส่งเสริมให้บุคลากรทุกคนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจิตวิญญาณของการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ต้องคำนึงเสมอว่า "ไม่มีใครมีสิทธิทำร้ายใคร ไม่ว่ารูปแบบหรือสถานที่ใด เวลาใดก็ตาม" และต้องไม่นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์เช่นนี้ โดยต่อจากนี้จะได้ทำงานกับระดับผู้บริการของมหาวิทยาลัยในการประสานและส่งต่อเรื่องร้องเรียนมายังกรรมการชุดนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ดำเนินการต่อไป ก่อนที่จะส่งผลการวินิจฉัยไปยังกระบวนการทางวินัยตามระเบียบของมหาวิทยาลัยต่อไป

          ด้าน ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ตาม พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลไกที่มหาวิทยาลัยสร้างขึ้นนี้มีความครอบคลุม ทันสมัย เท่าทันความซับซ้อนของปัญหา กล่าวคือ คณะกรรมการประกอบด้วยความหลากหลายของเพศภาวะ อายุ สถานะทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ความเชี่ยวชาญ อาทิ ด้านสิทธิและความเป็นธรรม ด้านนิติศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านเพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาพ และที่สำคัญคือมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย อาทิ สมาคมเพศวิถีศึกษา องค์การสหประชาชาติ เป็นต้น นอกจากนั้นอนุกรรมการฯ ที่เกิดขึ้นต่อจากนี้จะมีหน้าที่สอบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง ดำเนินการเสนอให้มีการคุ้มครองฉุกเฉินผู้ถูกกระทำ เช่น มีห้องพักฉุกเฉินในการแยกผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ การเยียวยาผู้ถูกกระทำ และส่งต่อผู้กระทำและผู้ถูกกระทำให้มีการพัฒนาศักยภาพให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ ซึ่งถือว่าครอบคลุมรอบด้าน และทันต่อความซับซ้อนของรูปแบบและผลกระทบของความรุนแรงทางเพศ

          ธรรมศาสตร์มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับประชาคม ทั้งนี้บุคลากรทุกคนคือผู้สร้างความสำเร็จและยั่งยืนนี้ ด้วยวิธีคิดและการกระทำง่าย ๆ คือ ต้องไม่นิ่งเฉยกับการละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกาย แล้วธรรมศาสตร์จะยืนหนึ่งเรื่องความเท่าเทียมแน่นอน