Loading...

ไขวิกฤติน้ำมันแพง ผ่านเลนส์นักเศรษฐศาสตร์

ราคาน้ำมันแพงกระทบผู้คนในสังคมทุกหย่อมหญ้า วันนี้เรามาทำความเข้าใจวิกฤติน้ำมันแพง กับ ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2565

      ราคาน้ำมันที่พุ่งสูง กระทบและสะเทือนต่อผู้คนในสังคมเป็นวงกว้าง ไม่ใช่แค่คนใช้รถใช้ถนนแต่ส่งผลต่อคนในสังคมทุกหย่อมหญ้า เพราะสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าครองชีพ ต่างก็แพงตามไปด้วย จนเรียกได้ว่าเป็นยุคข้าวยาก หมากแพง เป็นวิกฤติที่ประเทศไทยต้องหาทางไปต่อ

     วันนี้เรามาทำความเข้าใจวิกฤติน้ำมันแพงกับ ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะมาไขข้อสงสัยถึงสาเหตุของราคาน้ำมันที่พุ่งสูง และเสนอแนวนโยบายว่าประเทศไทยควรทำอย่างไรต่อ

     ผศ.ดร.ภูรี พูดถึงสาเหตุของราคาน้ำมันแพงในปัจจุบันว่า มาจากผลกระทบสืบเนื่องของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในช่วงแรกมีการคาดการณ์กันไว้ว่าสงครามจะไม่ยืดเยื้อ แต่ตอนนี้สงครามกลับยังคงไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ และด้วยการสู้รบที่ต่อเนื่องยาวนาน รวมไปถึงการกีดกันทางการค้ากับรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูง เหตุเพราะรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมศาสตร์รายใหญ่ของโลก ขณะเดียวกันตอนนี้การฟื้นตัวจากภาวะโควิด สภาพเศรษฐกิจ อะไรหลาย ๆ อย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจึงมีแนวโน้มที่จะทยอยสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นในขณะที่ฝั่งน้ำมันดิบขาดแคลน ฝั่งความต้องการใช้กลับเพิ่มขึ้น เมื่อสองทางมาเจอกัน ราคามันน้ำมันเลยพุ่งสูง

     ในเรื่องของผลกระทบที่เกิดขึ้น ผศ.ดร.ภูรี อธิบายว่า น้ำมันดิบเป็นเชื้อเพลิงในการขนส่ง ขณะเดียวกันเราขนส่งของเพื่อจะใช้ในการอุปโภคและบริโภค เพราะฉะนั้นถ้าราคาน้ำมันดิบแพง แน่นอนว่าจะส่งผลทำให้ราคาสินค้าอื่นแพงไปด้วย เงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อถ้าขึ้นไปแล้วจะมีผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าหากราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นไปถึง 150 เหรียญต่อบาร์เรล เศรษฐกิจอาจจะขยายตัวได้แค่ประมาณร้อยละ 3 เท่านั้น ดังนั้นผลกระทบมันไปกว้างและไปลึก ซึ่งจะกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะในภาคการผลิต แต่ผลกระทบของมันจะมากและยาวนานขนาดไหนก็ขึ้นอยู่ที่ว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะยืดเยื้อไปอีกนานแค่ไหน

     “ราคาน้ำมันแพงกระทบกับค่าไฟอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามาจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงปลายปี เราอาจจะได้เห็นราคาค่าไฟที่ 5 บาทต่อหน่วย” ผศ.ดร.ภูรี เสริม

     ผศ.ดร.ภูรี กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน สามารถแบ่งได้เป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในตอนนี้สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามช่วยเหลือประชาชนโดยการอุดหนุน ตัวอย่างเช่นในตอนนี้น้ำมันดีเซลควรมีราคามากกว่าลิตรละ 40 บาท แต่รัฐกดให้เหลือ 35 บาทต่อลิตร ซึ่งรัฐบาลอุดหนุนราคาน้ำมันโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่มีคนใช้จำนวนมากและจำเป็นต่อการขนส่งสินค้า เพียงแต่เวลาที่อุดหนุน จะต้องมีคนออกเงิน ซึ่งหลัก ๆ แล้วรัฐใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งภายในแค่ระยะเวลา 6 เดือนใช้ไปแปดหมื่นกว่าล้านบาท สิ่งที่ควรทำคือการตั้งเป้าเอาไว้ว่าตรงไหนที่เราควรจะหยุด โดยการอุดหนุนราคาน้ำมันดังกล่าวเป็นแค่การแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้นเพื่อที่จะหยุดผลกระทบที่จะไปสู่อัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น สิ่งสำคัญคือจะต้องมองการแก้ปัญหาทั้งในระยะกลางแล้วก็ระยะยาวด้วย

     รัฐควรจะต้องพิจารณาการแก้ปัญหาในระยะกลาง ไม่สามารถรอผลจากระยะยาวได้แล้ว ซึ่งในช่วงนี้เราจะเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ‘ภาษีสรรพสามิต’ เป็นตัวแปรสำคัญอีกตัวหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มแพงด้วยเหมือนกัน ผศ.ดร.ภูรี เสนอว่า ควรที่จะปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันโดยใช้แนวคิด ‘Polluter pay’ คือการที่ใครเป็นคนทำให้เสียหายในเรื่องไหน ก็ให้คน ๆ นั้นเป็นคนจ่ายในเรื่องนั้น เป็นลักษณะของการปรับวิธีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตซึ่งแต่เดิมเก็บจากน้ำมันเชื้อเพลิงในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำมันทำให้การจราจรแออัด ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้ถนนเสียหาย ทั้งที่จริงแล้ว ไม่ใช่ผู้ใช้น้ำมันทุกคนเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ควรหันมาใช้เครื่องมืออื่นเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น การเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในพื้นที่ที่มีการจราจรแออัดกับเฉพาะคนที่เข้าไปใช้ถนนในพื้นที่ตรงนั้นในช่วงเวลานั้น หรือในกรณีการขับรถที่ขนของน้ำหนักเกินที่อาจทำให้ถนนเกิดความเสียหาย ในกรณีนี้อาจไปคิดภาษีจากยานพาหนะ ค่าธรรมเนียม หรือค่าปรับ เป็นต้น

     หากเราแยกแยะให้ชัดเจน แล้วเลือกเก็บให้ถูกต้อง ประชาชนทุกคนก็ไม่ต้องแบกรับภาระภาษีทั้งหมดโดยที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อให้เกิดความเสียหายบนท้องถนน โดยการปรับรูปแบบการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเรียกว่า ‘การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมในภาคขนส่ง’ ซึ่งเรื่องอัตราภาษีเป็นสิ่งที่ควรให้ความสนใจเป็นอันดับแรก และรัฐสามารถทบทวนโครงสร้างอัตราภาษี ค่าธรรมเนียม และค่าปรับต่าง ๆ จากการใช้รถใช้ถนนได้ในระยะกลาง 

     ผศ.ดร.ภูรี กล่าวว่า ในระหว่างที่เกิดวิกฤติ เราอยู่ในช่วงที่เรียกว่า energy transition หรือการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน เพราะฉะนั้นควรที่จะหยิบฉวยช่วงเวลานี้ ในการที่จะหันไปลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล หันไปใช้เชื้อเพลิงหรือพลังงานที่มาจากพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดให้มากขึ้น สนับสนุนเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถมาทดแทนสิ่งที่เราต้องพึ่งพาการนำเข้า

     “ในภาวะที่ผันผวนอย่างนี้ เราควรจะหันกลับมาใช้สิ่งที่เรามี ขณะเดียวกันในฐานะผู้บริโภค ขอให้ตระหนักรู้แล้วว่า ตอนนี้อะไรก็ตามที่เราเคยใช้มาในอดีต เราไม่ควรใช้อย่างนั้นแล้ว เราควรประหยัดแล้วก็รู้จักใช้มันอย่างมีคุณค่า” ผศ.ดร.ภูรี ทิ้งท้าย