Loading...

อาจารย์สถาปัตย์ฯ ธรรมศาสตร์ คว้า 3 รางวัลนานาชาติ ออกแบบ ‘BirDs' LAND’ พื้นที่ของ ‘คน’ กับ ‘นก’

BirDs' LAND Innovative Public Spaces for Bird-Friendly Environment นวัตกรรมการออกแบบนำร่องเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับนก คว้ารางวัล AIIE 2022

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2565

     ปัจจุบัน การขยายตัวของสังคมเมืองทำให้พื้นที่ธรรมชาติรวมถึงสิ่งมีชีวิตในเมืองได้รับผลกระทบ แนวคิดเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมสมัยใหม่ที่ทำให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ โดยไม่ไปเบียดเบียนซึ่งกันและกันจึงเป็นทางออกที่จะสามารถสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อทั้งคนและธรรมชาติได้

     เราจะสร้างพื้นที่ หรือจุดร่วมที่ทำให้คนกับธรรมชาติ สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ไปทำลาย หรือสร้างผลกระทบต่อกันได้อย่างไร? นี่เป็นโจทย์ที่ ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถาม จนสามารถออกแบบพื้นที่นำร่องเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่าง “คน” กับ “นก” ในชื่อผลงาน BirDs' LAND Innovative Public Spaces for Bird-Friendly Environment” ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมการออกแบบที่ได้รับการยอมรับจากสากล คว้า 3 รางวัล ในเวทีการประกวดระดับนานาชาติ Africa Invention & Innovation Expo 2022 (AIIE 2022) ณ ประเทศ Nigeria, Africa

     ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ เล่าว่า ‘นก’ เป็นสัตว์ที่มนุษย์คุ้นเคยมากที่สุด เป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ เช่น ตอนเช้าหากมีนกส่งเสียงร้อง เราจะรู้สึกว่าธรรมชาติมีความสมบูรณ์ นี่คือภาพตัวแทนของ ‘นก’ ที่มีต่อมนุษย์ แต่ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าสังคมเมืองทำให้สิ่งมีชีวิตที่ผูกพันกับมนุษย์อย่าง ‘นก’ ถูกกีดกันออกไป การทำลายสภาพแวดล้อมพื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของนกจากการขยายตัวของเมือง ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของนก ทำให้นกในเมืองน้อยลง

     “ภาพจำของนกในสังคมเมืองติดลบ กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ไม่ค่อยชอบ เพราะมักสร้างความรำคาญให้กับที่อยู่อาศัย ทั้งในเรื่องของมูลนก โรคติดต่อ และอื่น ๆ สิ่งก่อสร้างในเมืองจึงเป็นการกีดกันไม่ให้นกอยู่ในเมือง ไปจนถึงอาจทำให้นกมีอันตราย” ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ กล่าว

     จึงนำมาสู่ BirDs' LAND ผลงานการออกแบบพื้นที่เปิด เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้นกในธรรมชาติสามารถมีปฏิสัมพันธ์อยู่ร่วมกับคนได้โดยที่ทั้งคนและนกไม่เข้าไปรบกวนวิถีชีวิตซึ่งกันและกัน เช่น นกสามารถบินเข้ามาใน BirDs' LAND ที่มีอาคารหลายหลัง อย่างอาคารหอสังเกตการณ์ดูนก หรือพื้นที่ริมน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ออกแบบให้คนเข้าไปใกล้ชิดกับนกมากที่สุด โดยในพื้นที่ดังกล่าวเราสร้างนวัตกรรมที่ทำให้นกสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ เช่น การสร้างห่วงโซ่อาหาร อย่างการนำมะพร้าวมาเจาะรู เพื่อให้แมลงมากัดกิน แล้วนกก็มากินแมลงอีกที เป็นไปตามธรรมชาติ ให้เป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์แก่การอาศัยของนก ร่วมทั้งมนุษย์ยังสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ธรรมชาตินี้ได้

     ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ อธิบายว่า แนวคิดการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงการออกแบบ สร้างสิ่งก่อสร้างหรือพื้นที่รองรับสิ่งมีชีวิตขึ้นมาเท่านั้น แต่พื้นที่นี้จะต้องสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติให้เกิดขึ้นได้โดยที่ไม่เป็นการเข้าไปใกล้ชิดจนเกิดผลเสียต่อกัน ให้เรารู้สึกได้ว่าธรรมชาตินั้นอยู่ใกล้เราแค่เอื้อม BirDs' LAND จึงเป็นดินแดนที่เป็นมิตรระหว่างมนุษย์กับนก มนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน นกกับนกด้วยกัน รวมถึงนกกับสัตว์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ

     การออกแบบของ BirDs' LAND เป็นลักษณะกึ่งสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง (built environment) ที่พยายามทำให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด วัสดุในการสร้างจึงเป็นวัสดุกึ่งธรรมชาติที่ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของนกในภายหลัง เช่น การนำดินมาสร้างเป็นที่อยู่อาศัยของนก โดยใช้เทคโนโลยีดินอัดแน่น (Rammed Earth) การใช้ไม้ไผ่มาประกอบเป็นที่อยู่ของนก รวมถึงการนำวัสดุรีไซเคิลมาสร้างสิ่งปลูกสร้างใน BirDs' LAND

     สภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง (built environment) คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือ landscape ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารอย่างเดียว เพราะฉะนั้นสภาพแวดล้อมสรรค์สร้างไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งปลูกสร้างเสมอไป

     “สภาพแวดล้อมสรรค์สร้างที่ดีจึงควรสมดุลให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติได้ ไม่เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปสร้างผลกระทบ โดยดัชนีที่สามารถวัดคุณภาพของสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง นอกจากความสุขแล้วก็คือผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งสำคัญมากเพราะหากผลกระทบเกิดขึ้นไปแล้วมันไม่สามารถรื้อฟื้น เยียวยาให้ดังเดิมได้ BirDs' LAND จึงเป็นความพยายามให้สมดุลกับธรรมชาติอย่างมากที่สุด ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด” ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ กล่าว

     ปัจจุบัน BirDs' LAND กำลังสร้างขึ้นจริงที่จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีกิจกรรมเกี่ยวกับนก ทั้งนกเลี้ยงและนกในธรรมชาติ

     ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ กล่าวถึงการต่อยอดในอนาคตว่า นวัตกรรมแต่ละชิ้นสามารถเป็นจิ๊กซอว์ที่นำไปสู่การต่อยอดพัฒนาในงานออกแบบชิ้นอื่น ๆ ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ เกิดการเรียนรู้ เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องนกอย่างเดียว ในอนาคตอาจมีการต่อยอดจากผลงานนำร่องชิ้นนี้เพื่อสร้างพื้นที่ให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้โดยที่ไม่ไปทำร้ายซึ่งกันและกัน

     นอกจากการอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติอย่างไม่ทำลายกันและกัน จะเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ แล้ว มนุษย์เองก็จะได้ประโยชน์ในรูปแบบของความสุข ที่ได้จากการปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติเหล่านั้นด้วย

     “สำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ สิ่งหนึ่งที่ไม่อยากให้ทิ้งคือ ต่อให้โลกนี้มีความเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่เราต้องหวนกลับไปคิดให้ได้ว่า พื้นฐานของความเป็นมนุษย์คือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เราจึงควรหาทางให้ธรรมชาติที่อยู่กับเราสมบูรณ์ที่สุด หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จากการใช้นวัตกรรม ภูมิปัญญา และรากเหง้าของเรา ต้องใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด เก็บความสวยงามของโลกนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป” ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย