Loading...

พิธีเปิดอาคาร “กิติยาคาร” และพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2564

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารกิติยาคาร และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2566

     พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร “กิติยาคาร” ในวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2566 และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2564 ในวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2566 และวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ อาคารกิติยาคาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

     พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารกิติยาคาร โดยอาคารแห่งนี้ จัดสร้างขึ้นจาก 2 แนวคิดหลักคือ “ความยั่งยืน” และ“ความยุติธรรม” ความสูง 4 ชั้น ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ โดยพื้นที่ภายในของอาคารบริเวณด้านหน้าทางเข้าหลักของอาคาร ได้จัดให้เป็นพื้นที่นิทรรศการถาวรเพื่อการเฉลิมพระเกียรติแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หอประชุมใหญ่ 3,500 ที่นั่ง หอดนตรี 180 ที่นั่ง ห้องจัดเลี้ยงอเนกประสงค์ 180 ที่นั่ง ห้องประชุมสัมมนา 40-45 ที่นั่ง และห้อง Active-Learning Room

     ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการ “ธรรมประภา” เป็นนิทรรศการถาวร ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทรงงานด้านความยุติธรรม การช่วยเหลือผู้ต้องหาให้เข้าถึงหลักนิติธรรม (Rule of Law) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของอดีตผู้ต้องขังหญิง โครงการกำลังใจในพระดำริ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ นอกจากนี้ยังแสดงกิจกรรมเมื่อครั้งยังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม

     ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปลูกต้นยูงทอง จำนวน 2 ต้น ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทรงพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2564

     โอกาสนี้พระราชทานพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ตอนหนึ่งความว่า

     “...การที่จะรักษาเกียรติแห่งความเป็นบัณฑิตไว้ให้ได้ คงไม่มีวิธีใดที่ดีไปกว่า การนำความรู้ความสามารถ คุณธรรมความดี และคุณสมบัติทั้งปวงที่มีอยู่ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงาน เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์และความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง แก่ส่วนรวม และชาติบ้านเมือง จึงขอให้บัณฑิตทุกคน เห็นคุณค่าแห่งความเป็นบัณฑิตของตน และตั้งใจปฏิบัติการทุกอย่าง ให้สมกับคุณค่าและเกียรติ ทั้งนั้นเสมอไป...”

     ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2564 ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาเคมี แด่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้) แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

     นอกจากนี้ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 ท่าน ได้แก่ 1.) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 2.) นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ 3.) รศ.ดร.ศิริพร ขัมภลิขิต ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ 4.) นางนุสรา เตียงเกตุ ศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ 5.) นายธีรวัฒน์ ธัญลักษณ์ภาคย์ วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารเทคโนโลยี 6.) ดร.เตช บุนนาค ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาไทยศึกษา และ 7.) Prof.Kenji Hirayama, MD, PhD. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวคลินิก

     สำหรับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2564 มีจำนวนบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา รวมทั้งสิ้น 9,497 คน แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี จำนวน 8,062 คน และระดับบัณฑิตศึกษา  (ประกาศนียบัตรบัณฑิต ปริญญาโท และปริญญาเอก) จำนวน 1,435 คน

     ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดโอกาสให้ คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ หนึ่งในนั้นคือ “โครงการนักศึกษาพิการ” ในรูปแบบการรับตรง โดยกำหนดสัดส่วนไว้ที่คณะละ 1% สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 10 เรื่องการลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Reduce inequality within and among countries) ด้วย

     นอกเหนือจากการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค และการให้บริการทางวิชาการ มหาวิทยาลัย ยังเดินหน้าในการปรับปรุงอาคารสถานที่ ตลอดจนการสร้างอารยสถาปัตย์ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและปลดล็อกข้อจำกัดของนักศึกษาพิการ ซึ่งจะเอื้อต่อการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันทุกอาคารมีทางลาดสำหรับรถวีลแชร์ มีลิฟต์ ห้องน้ำ ที่จอดรถสำหรับนักศึกษาพิการ ทางเท้าที่มีพื้นผิวสำหรับนำทาง (Guiding Block) ขณะที่ถนนภายในมหาวิทยาลัยก็มีการติดตั้งสัญญาณเตือนสำหรับนักศึกษาหูหนวก ตาบอด ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการติดตั้งระบบนี้ ส่วนหอพักนักศึกษา ได้ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษภายใต้มาตรฐานสากล เช่นเดียวกับสถานที่ออกกำลังกาย อาทิ ฟิตเนส หน้าผาจำลอง สระว่ายน้ำ ก็มีการออกแบบไว้ให้นักศึกษาพิการเข้าถึงได้ทั้งหมด ขณะที่การเดินทางในมหาวิทยาลัยก็มีการติดตั้งทางลาด (Ramp) ในรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าทุกคัน

     ในปีนี้มีบัณฑิตพิการที่สำเร็จการศึกษาในโครงการนักศึกษาพิการ ประจำปีการศึกษา 2564  จำนวน 13 คน โดยเป็นผู้พิการทางการเห็น จำนวน 7 คน ทางการเคลื่อนไหว จำนวน 4 คน และทางการได้ยิน จำนวน 2 คน  เรามาฟังเสียงตัวแทนบัณฑิตพิการที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ 

     ชญาภรณ์ โฆษิตสกุล (พราว) บัณฑิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอมีความพิการทางการได้ยิน ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านเทคโนโลยีอาคาร ซึ่งเมื่อเรียนจบ ป.โท แล้ว ชญาภรณ์ เล่าว่า อยากจะไปทำงานในบริษัทชั้นนำของประเทศ โดยตนให้ความสำคัญกับแนวคิด ‘ความยั่งยืน’ ในสถาปัตยกรรม จึงอยากที่จะสร้างสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ผ่านศาสตร์การออกแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนรุ่นใหม่ในอนาคตต่อไป

     “รู้สึกโชคดีมากที่ได้มาเรียนที่ธรรมศาสตร์ เพราะที่นี่เป็นสถาบันที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพ และความเท่าเทียม นอกจากนั้นการเรียนที่นี่ยังทำให้เราได้พบปะคนหลากหลายมากขึ้น ส่วนใหญ่สังคมที่เรารู้จักมักจะปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกว่าจะเป็นนักศึกษาพิการหรือไม่พิการ ทำให้เรามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น มีอิสระในด้านเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก” ชญาภรณ์ กล่าว

     ด้าน อชิรญา จะรา (พลอย) บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิการทางการเห็น โดยมีสายตาเลือนราง ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ สำนักบริหารบุคคล กระทรวงการต่างประเทศ อชิรญา เล่าว่า การเรียนที่ธรรมศาสตร์ ให้อุดมการณ์และความรู้ ทั้ง hard skills และ soft skills ที่มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตในการทำงานได้จริง ซึ่งโครงการนักศึกษาพิการฯ (DSS TU) เป็นส่วนสำคัญที่ช่วย Support ทั้งเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก เข้าใจความต้องการเฉพาะของนักศึกษาแต่ละคนเป็นอย่างดี

     “อยากฝากถึงน้อง ๆ พิการ ถ้ามีความฝันหรือความมุ่งมั่นที่อยากจะทำอะไรหรือเป็นอะไร ก็ให้เชื่อมั่นในตัวเองและลงมือทำ เรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วค่อย ๆ พัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ความสำเร็จก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน” อชิรญา กล่าว